นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และที่ปรึกษาโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า กล่าวว่า ธุรกิจพลังงานจากนี้ไปจะเป็น New Normal เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนจะเปลี่ยนไปหลังจากผ่านสถานการณ์โควิด-19 จากดีมานด์ที่ลดลงทั้งจากภาคอุตสาหกรรม และพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปจากการบริโภคพลังงานที่ลดลง อาทิ การลดการเดินทางผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน การขนส่งสาธารณะ รวมถึงรถยนต์ส่วนตัว ทำให้การใช้พลังงานลดลงไป และในอนาคตพลังงานที่ได้มาจากฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นจากถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ จะลดน้อยลง ซึ่งสิ่งที่จะมาแทนที่ก็คือพลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งแต่เดิมก็มีความสำคัญอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการใช้พลังงานเหล่านี้มากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีของพลังงานทดแทนจะมีความก้าวหน้าและมีการพัฒนาสูงขึ้นทำให้ต้นทุนของพลังงานเหล่านี้ลดลง โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงขยะ
“จากนี้ไปอุตสาหกรรมพลังงานจะเป็น New Normal การใช้พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มสูงขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อก่อนต้องลงทุนสูง ใช้พื้นที่มาก แต่ปัจจุบันมาอยู่ในบ้านเราได้แล้ว ทุกบ้านสามารถติดโซลาร์รูฟท็อปผลิตไฟฟ้าใช้เอง และต่อไปก็จะมีเรื่องของ Energy Storage หรือแบตเตอร์รี่ ที่เราสามารถที่จะเก็บไฟที่เราผลิตได้ในตอนกลางวันเก็บไว้ใช้ เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีทำให้การใช้พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้มีประโยชน์มากขึ้นและทำได้ดีขึ้น ซึ่งพลังงานจากเชื้อเพลิงขยะก็เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้เราใช้ขยะกันมากขึ้น ไม่สามารถกำจัดได้หมด ซึ่งถ้าสามารถเอาขยะมาทำเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ประโยชน์ทั้งการกำจัดขยะ และสามารถผลิตเป็นไฟฟ้าใช้ได้ด้วย ซึ่งแค่ 2 อย่างนี้ก็เห็นประโยชน์อย่างมหาศาลแล้ว”นายมนูญ กล่าว
นายมนูญ กล่าวต่อว่า เรื่องของทิศทางพลังงานและเทคโนโลยีที่นำมาปรับใช้จะมีความสำคัญ และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวอย่างมาก การให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ดังนั้นทำอย่างไรจะให้สื่อมวลชนซึ่งไม่ใช่มีความสำคัญเฉพาะการสื่อสารสาธารณะเท่านั้น แต่จะต้องมีบทบาทนำในการเป็น Change Agent หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง นำเอาความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีเหล่านี้ไปถึงประชาชนได้ถูกต้อง โดยที่ผ่านมาโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ให้ความรู้ด้านพลังงานแก่สื่อมวลชนใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ รวมกรุงเทพมหานคร ทำให้สื่อมวลชนมีความรู้ ความเข้าใจ ได้ดียิ่งขึ้น เกิดการรวมตัวของสื่อมวลชนที่สนใจ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนที่เข้มแข็งในอนาคต
ด้านนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ เอ็กซ์ โซลูชั่นส์ จำกัด ในฐานะผู้บริหารโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยมีวัตถุประสงค์ในการสำรวจและค้นหาองค์กรสื่อและสื่อมวลชนที่ใส่ใจเรื่องพลังงานทางเลือก เพื่อพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนไทย พร้อมสร้างการมีส่วนร่วม รณรงค์และขยายผลให้ประชาชนและสังคมให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และขยะ ซึ่งคาดว่าหลังจบโครงการจะมีสื่อมวลชนที่สนใจเข้าร่วมเครือข่ายกว่า 30 ท่าน จากทุกภาคส่วนทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ รวมทั้งกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิด หรือ Macro Influencers เพื่อเป็นต้นแบบผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการรณรงค์และสื่อสารความเข้าใจด้านพลังงานที่ถูกต้องสู่สาธารณะ