นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ส่งผลให้ภาคการผลิต การตลาด และการส่งออกหยุดชะงักไป รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตหมอนยางพารา ซึ่งได้รับผลกระทบเนื่องจากประเทศจีนซึ่งเป็นลูกค้ารายสำคัญชะลอการท่องเที่ยวในประเทศไทยและการสั่งซื้อหมอนยางพารา จึงจัดทำโครงการพัฒนาความร่วมมือการผลิตและการตลาดอุตสาหกรรมยางพารา (สินเชื่อฝากหมอนยางพารา) ให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตหมอนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ขยายกำลังการผลิต และส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้ยางภายในประเทศ โดยการแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงเพิ่มช่องทางจำหน่ายยางให้มากขึ้น ซึ่ง กยท. จะปล่อยสินเชื่อปลอดดอกเบี้ย ให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางหรือวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับการอนุมัติวงเงินตามปริมาณสต๊อกหมอนยางที่มี โดยใช้เกณฑ์คุณภาพหมอนยางพารามาทำการประเมินราคากำหนดวงเงินสินเชื่อแบ่งเป็นเกรด A วงเงินสูงสุด 80% เกรด B วงเงินสูงสุด 70% และ เกรด C วงเงินสูงสุด 50% ของมูลค่าหมอนยางตามที่ กยท.กำหนด
ซึ่งจะมีคณะกรรมการเข้าตรวจสอบสินค้าตามเกณฑ์การประเมินของโครงการ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องมีสต๊อกหมอนยางพาราเป็นของตนเอง เพื่อใช้ในการประเมินสินเชื่อ และค้ำประกัน อีกทั้งต้องมีสถานที่จัดเก็บที่เหมาะสมตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ และเมื่อผู้เข้าร่วมโครงการจำหน่ายหมอนยางพาราได้ หรือมีความพร้อมในการคืนเงิน สามารถชำระเงินคืนให้กับ กยท. ได้ตลอดระยะเวลาโครงการ ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2563 ภายใต้งบประมาณตลอดโครงการ 11,312,000 บาท
สำหรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางหรือวิสาหกิจชุมชนใดที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ - วันที่ 30 มิถุนายน 2563 ณ สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยสาขาใกล้บ้านท่าน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-433-2222 ต่อ 206,245