นายแพทย์ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เดินทางไปตรวจเยี่ยมรพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา จากนั้นเดินทางไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เพื่อประชุมแผนฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID-19) ระหว่างกรมสุขภาพจิต กับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและสาธารณสุขนิเทศก์ประจำเขตสุขภาพที่9 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ได้แก่นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ (Teleconference)
นายแพทย์ชิโนรส กล่าวว่า ขณะนี้แนวโน้มการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเกือบ 5 เดือน มีแนวโน้มจะควบคุมได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จากความร่วมมือของประชาชน บุคลากรสาธารณสุขและทุกภาคส่วน แต่จากผลกระทบของการระบาดและมาตรการควบคุมโรคซึ่งประชาชนต้องปรับพฤติกรรมและวิถีชีวิตมาสู่วิถีชีวิตใหม่จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรค และการระบาดที่ยาวนานจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนเกิดความเครียด วิตกกังวล เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตและเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้น ที่น่าห่วงคือโรคซึมเศร้า และการฆ่าตัวตาย ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอาจเกิดภาวะเหนื่อยล้าทางอารมณ์ หมดไฟทำงาน จากภาระงานที่มากและมีความเสี่ยงอันตราย ส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตตามมาได้เช่นกัน
นายแพทย์ชิโนรสกล่าวต่อว่า ในการป้องกันปัญหาที่กล่าวมา กรมสุขภาพจิตได้จัดแผนฟื้นฟูจิตใจเป็นการด่วน ในช่วง 3 เดือนแรกคือเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2563 จะเน้นการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต 4 โรค คือเครียด(Stress) ซึมเศร้า(Depression ) ภาวะหมดไฟทำงาน( Burnout) และการฆ่าตัวตาย(Suicide) ในกลุ่มเป้าหมายหลักได้แก่ กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 และญาติและผู้ถูกกักกันตัว กลุ่มเปราะบางทางสังคม เช่นผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า กลุ่มประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ตกงาน และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ดำเนินการทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ โดยในเขตสุขภาพที่ 9 มีรพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่9 สนับสนุนด้านวิชาการและเทคโนโลยีต่างๆในการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ที่มีปัญหาต่างๆ โดยได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานอื่นๆดูแลตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน จนถึงระดับจังหวัด ในช่วง3 เดือนแรกนี้ตั้งเป้าหมายไว้ 3 ประการคือ 1.นำผู้ที่มีปัญหาหรือกลุ่มเสี่ยงเกิดปัญหา เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาให้ได้มากที่สุดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 2.ควบคุมอัตราการฆ่าตัวตายไม่ให้เกิน 8.0 ต่อแสนประชากรและ3. ประชาชนร้อยละ 80 มีความเข้มแข็งทางจิตใจ ปรับตัวอยู่กับสถานการณ์ได้
ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า รพ.จิตเวชฯได้ร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตที่9 จ.นครราชสีมา ได้ดำเนินการประเมินความเครียดประชาชนใน 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ใน 5 กลุ่มเสี่ยงเช่น ประชาชนทั่วไป กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 พบว่าส่วนใหญ่เครียดอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยมีผู้ที่เครียดในระดับมากขึ้นไปจำนวน 7,605 คน คิดเป็นร้อยละ 6.9 ของจำนวนที่ตรวจทั้งหมด 109,586 คน ทั้งนี้ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เครียดร้อยละ 10.51 ส่วนประชาชนทั่วไปเครียดร้อยละ 8 และพบผู้ที่มีอาการซึมเศร้า 87 คน เสี่ยงฆ่าตัวตายจำนวน 7 คน ทั้งหมดนี้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและทีมเอ็มแคท ( MCATT) พร้อมทั้งเร่งสร้างวัคซีนชุมชน เน้นให้คนในชุมชนให้กำลังใจ ใส่ใจให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
สำหรับผลการให้บริการคำปรึกษาประชาชน ซึ่งขณะนี้เปิดบริการ 2 ระบบ คือทางสายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 06 1023 5151 ตั้งแต่ 7 เม.ย.-22 พ.ค. มีผู้ใช้บริการ 21คน ปัญหาอันดับ1 คือความเครียด ในกลุ่มประชาชนทั่วไปเครียดจากการถูกเลิกจ้าง รายได้ลดลง ส่วนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เครียดจากถูกครอบครัวว่าเป็นผู้แพร่เชื้อ ส่วนการให้บริการคำปรึกษาผ่านทางไลน์(LINE) มีประชาชนสมัครเป็นเพื่อน 230 คน มีข้อความปรึกษาประมาณ 600 ข้อความ ส่วนใหญ่ปรึกษาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ
ทั้งนี้รพ.จิตเวชฯ ได้เพิ่มมาตรการดูแลสุขภาพจิตประชาชนใน 4 จังหวัดอีสานตอนล่างเพิ่มจากระบบปกติ 6 ช่องทาง ได้แก่ ผ่านโปรแกรมออนไลน์ การปรึกษาปัญหาทางโทรศัพท์ การลงเยี่ยมบ้านและสถานบริการสาธารณสุข การเตรียมชุมชน ระบบการส่งต่อผู้มีปัญหาที่รวดเร็วไร้รอยต่อ และจัดระบบให้คำปรึกษาหรือพบจิตแพทย์