พร้อมกันนี้อธิบดีกรมการข้าวยังได้ลงพื้นที่ดูงานแปลงนาที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และดินเค็ม รวมถึงเขื่อนกั้นน้ำระหว่างน้ำเค็มและน้ำจืดที่กำลังประสบปัญหาน้ำเค็มหนุนเข้ามาปะปนกับน้ำจืด ที่ส่งผลตกระทบต่อการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านในพื้นที่
นายสุดสาคร เปิดเผยว่า ดินเค็มเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลต่อการปลูกข้าวมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นต่อผลผลิตข้าวในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงถึงร้อยละ 50 โดยปัญหาดินเค็มนั้น จะส่งผลให้ดินเกาะตัวแน่น เนื่องจากเกลือที่เข้าไปลดพื้นที่ของช่องอากาศภายในดิน ทำให้น้ำซึมลงสู่ดินยาก ทำให้ข้าวที่หว่านไม่เจริญเติบโต
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า จังหวัดเพชรบุรีเป็นอีกหนึ่งจังหวัด ที่ประสบปัญหาดินเค็ม โดยเฉพาะที่อำเภอบ้านแหลม ที่ประสบปัญหาทั้งด้านน้ำแล้ง น้ำท่วม และดินเค็ม สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรในพื้นที่โดยเฉพาะการทำนาข้าว
"อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวพันธุ์ กข49 และ กข31 แต่เนื่องจากประสบปัญหาดินเค็มและปัญหาลมฝน ทำให้ได้ผลผลิตน้อยและต้นข้าวไม่แข็งแรง ซึ่งในขณะนี้กรมการข้าวได้แนะนำให้เกษตรกรในพื้นที่ปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวพันธุ์ กข73 ซึ่งมีคุณสมบัติทนเค็ม ทนลม ไวต่อช่วงแสงได้ และเหมาะกับพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาดินเค็ม" อธิบดีกรมการข้าว กล่าว
สำหรับการแก้ไขปัญหาดินเค็มนั้นมีหลายวิธี อาทิ ใช้การชะล้างเกลือด้วยระบบระบายน้ำใต้ดิน การทำคันนาขนาดใหญ่กั้นระหว่างบ่อเกลือกับพื้นที่ทำนา ทำร่องน้ำดักดินเค็ม ปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรีวัตถุ เช่น แกลบ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือการไถกลบตอซัง อีกทั้งควรมีการปกคลุมดินหลังปลูกพืชเพื่อรักษาความชื้น และปลูกพืชที่ทนเค็ม