ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เป็นวันครบรอบ “57 ปี”การก่อตั้ง วว. โดยภารกิจหลักการดำเนินงานขององค์กรมุ่งใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปขับเคลื่อนสนับสนุนการแก้ปัญหา สร้างโอกาสทางธุรกิจ และการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม สังคม พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยมีกลไกสำคัญ คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จให้กับผู้ประกอบการ ทั้งในระดับ SMEs ผู้ผลิตสินค้า OTOP วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเกษตรกร ให้มีความเข้มแข็ง สามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจาก วว. สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่หรือเพิ่มมูลค่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เดิมให้ได้มาตรฐาน ตอบโจทย์ผู้บริโภคและผู้ใช้บริการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ช่วยเสริมแกร่งเศรษฐกิจประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
“…รูปแบบและขั้นตอนการดำเนินงานของ วว. ครอบคลุมตั้งแต่ การรับฟังแนวความคิดของผู้ประกอบการ (idea) การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและแก้ไขปัญหา (prototype & solution) การบริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ การขยายขนาดการผลิตจากห้องทดลองสู่ระดับการผลิตจริง (scale up) การพัฒนาระบบบริหารจัดการการผลิตสินค้า (product & management system) ตลอดจนการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ (commercialization) ทั้งการส่งเสริมด้านการตลาดและเชื่อมโยงด้านการเงิน
ตลอดระยะเวลา 57 ปีในการดำเนินงาน เรามีการปรับปรุง พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดนโยบายรัฐและปัญหาของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ในภาพรวมการดำเนินงานตามภารกิจหลักและโครงการสำคัญต่างๆ ของ วว. มี การพัฒนานวัตกรรมสู่การนำไปใช้ประโยชน์จริง มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่พร้อมใช้เพื่อเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ในภาวะที่เกิดวิกฤตต่างๆ เช่น แปรรูปอาหาร พัฒนาผลิตผลทางการเกษตร สมุนไพร สร้างความฝันของกลุ่มเป้าหมายให้เป็นจริง ผลักดันผู้ประกอบการที่นำผลงานวิจัย พัฒนา และบริการของ วว. ไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม คิดเป็นมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี รวมมูลค่าผลกระทบที่เกิดจากผลงานของ วว. มากกว่า 6,000 ล้านบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวถึงทิศทางการขับเคลื่อนขององค์กรในก้าวย่างอนาคตว่า มุ่งสร้างให้ วว. เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยพัฒนา ที่มีผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเร่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการทำงาน ให้ร่วมกันสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงบูรณาการ อยู่บนฐานของทรัพยากรชีวภาพ (Bio-based) เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไทย ตอบสนองการขับเคลื่อนประเทศและเศรษฐกิจฐานราก ชุมชน และประชาชนเชิงพื้นที่ (Area based) สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำ ตามนโยบายรัฐบาล
“…การดำเนินงานของ วว. ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร โดยใช้องค์ความรู้ด้าน วทน. เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ซึ่งขับเคลื่อนโดยการนำความเชี่ยวชาญและโครงสร้างพื้นฐาน วทน. ไปสร้างประโยชน์อย่างครบวงจร (Total Solution Provider) พัฒนาเทคโนโลยีที่สนองตามบริบทของผู้ใช้ประโยชน์ (Appropriate technology) และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ในก้าวต่อไปของ วว. จะใช้พื้นที่ของสถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยเหลือด้านการเกษตร การวิจัยพัฒนาวัสดุธรมชาติ เป็นฐานดำเนินงานขยายผลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ หรือ “BCG Economy Model” ซึ่งประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ทำการเกษตรแบบครบวงจร ส่งเสริมการปลูก เทคโนโลยีเกี่ยวกับการนำของเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภาพของสถานีวิจัยลำตะคองในปีหน้าจะเป็นแหล่งเรียนรู้และนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล…” ผู้ว่าการ วว. สรุป
อนึ่ง วว. เริ่มต้นก่อกำเนิดเป็นองค์กรในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2506 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการตามนโยบายพิเศษของรัฐ ในช่วงเวลากว่า 57 ปีที่ผ่านมา วว.สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม วิจัยพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอย่างครบวงจร และได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานแกนหลักในการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2563 วว. ยังเป็น 1 ใน 42 หน่วยงานของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน และกำกับการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
ผลการดำเนินงานเด่นๆ เป็นรูปธรรมของ วว. ที่ร่วมดำเนินงานกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหา สร้างโอกาสทางธุรกิจ และเสริมแกร่งเศรษฐกิจประเทศให้ยั่งยืน อาทิ 1.โครงการอุทยานสมุนไพรเฉลิมพระเกียรติ ร.9 พุทธมณฑล 2.โครงการพัฒนาเกษตรดินทรายชายทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3.โครงการสิ่งแวดล้อมในเขตพระราชฐาน 4.โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเห็ดหอมบนที่สูงในภาคเหนือ 5.โครงการพืชพลังงาน 6.โครงการไม้บังลม 7.โครงการปรับปรุงบึงมักกะสัน 8.โครงการศึกษาดินพรุเพื่อใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 9.โครงการป่ารักน้ำ 10.โครงการวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์หญ้าแฝก 11.โครงการยกระดับโอทอปในพื้นที่ 10 จังหวัดยากจน 12.โครงการคูปองวิทย์เพื่อโอทอป 13.โครงการบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ 14.โครงการ 1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร 15.โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร 16. โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐาน/ข้าวอินทรีย์ 17.โครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 18.โครงการพัฒนาคุณภาพผลผลิตผลไม้และพืชอัตลักษณ์ 19.โครงการครัวชุมชน 20.โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่นไทย (Thai Cosmetopoeia) 21.โครงการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศ 22.โครงการส่งเสริมพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น