น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า หลังจากการระบาดของโรค ASF ในสุกรตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อปริมาณสุกรในตลาดโลกลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้ระดับราคาสุกรมีชีวิตและเนื้อสุกรสูงเป็นประวัติการณ์ สำหรับภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน ที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคสุกรรายใหญ่ของโลก ซึ่งปกติมีผลผลิตสุกรประมาณ 500 ล้านตัวต่อปี แต่ด้วยภาวะโรคที่ระบาดอย่างรุนแรงทำให้ปริมาณสุกรหายไปถึง 300 ล้านตัวในปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดภาวะขาดแคลนอย่างหนัก ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มจึงพุ่งสูงขึ้น ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 120-136 บาทต่อกิโลกรัม และทางการจีนแก้ปัญหาการขาดเนื้อสุกรด้วยการนำเข้าเพิ่มขื้นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนเมษายนมีการนำเข้าเนื้อสุกรมากถึง 400,000 ตัน ทำสถิตินำเข้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นมากถึง 170% จากช่วงเดียวกันของปี 2562
ขณะที่ประเทศเวียดนาม ปริมาณสุกรทั้งประเทศลดลงไปกว่า 25% ทำให้มีเนื้อสุกรไม่เพียงพอกับการบริโภคของชาวเวียดนาม ที่มีการบริโภคเนื้อสุกรคิดเป็นสัดส่วนกว่า 3 ใน 4 ของการบริโภคเนื้อสัตว์ทั้งหมด ส่งผลให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มของเวียดนาม ปรับเพิ่มขึ้นถึง 115-120 บาทต่อกิโลกรัม เป็นระดับราคาสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยเวียดนามได้นำเข้าเนื้อหมูเพิ่มขึ้นถึง 300% เมื่อเทียบกับปีก่อน เฉพาะช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 นี้ มีการนำเข้าแล้วเกือบ 70% ของปริมาณทั้งหมดของปี 2562 ส่วนกัมพูชา ราคาหมูหน้าฟาร์มเฉลี่ยในปัจจุบันเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 96 บาทต่อกิโลกรัม
“จากสถานการณ์โควิด 19 ที่คลี่คลายลง หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศจีน เมื่อผนวกกับภาวะการขาดแคลนเนื้อสุกรอย่างหนัก ทำให้จีนมีแนวโน้มความต้องการนำเข้าสุกรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการบริโภคในประเทศ ขณะที่เวียดนามเหนือที่มีพรมแดนติดกับจีนก็มีโอกาสในการส่งออกไปได้ ส่วนไทยยังเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ปลอดจากโรค ASF ทำให้มีปริมาณสุกรเพียงพอกับการบริโภคในประเทศ ไม่มีปัญหาขาดแคลน และปัจจุบันราคาหมูหน้าฟาร์มเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 66-71 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่ถูกที่สุดในภูมิภาค จึงถือเป็นโอกาสของคนไทยที่ได้บริโภคเนื้อหมูปลอดภัยจากกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพสูง ในราคาไม่แพง” อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าว