นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยถึงสถานการณ์การสูบบุหรี่ในเขตสุขภาพที่ 12 จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ได้ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากรไทยในปี พ.ศ. 2560 พบว่า มีอัตราของผู้ที่สูบบุหรี่อยู่ที่ ร้อยละ 23.90 ซึ่งเป็นอัตราการสูบบุหรี่ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในระดับประเทศที่ ร้อยละ 19.10 โดยพบว่าจังหวัดสตูล สงขลา พัทลุง และตรัง มีอัตราการสูบบุหรี่ที่ร้อยละ 26.90, 25.30, 24.30 และ 24.20 ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราการสูบบุหรี่ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในระดับเขตสุขภาพ และจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีอัตราการสูบบุหรี่อยู่ที่ ร้อยละ 23.40, 23.00, และ 20.30 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระดับเขตสุขภาพ
นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวถึงการสูบบุหรี่กับเชื้อโควิด 19 ว่า การสูบบุหรี่ไม่สามารถป้องกันเชื้อโควิด 19 ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่สูบบุหรี่กลับมีความเสี่ยงต่อการที่จะเกิดอาการรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เมื่อติดเชื้อโควิด 19 เนื่องด้วยสมรรถภาพปอดของผู้ที่สูบบุหรี่นั้นจะด้อยกว่าปอดของคนปกติที่ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากปอดของผู้ที่สูบบุหรี่มีสารพิษต่างๆ ที่ตกค้างจากการที่สูบบุหรี่อยู่ และผู้ที่สูบบุหรี่มาเป็นเวลานานอาจมีโรคหรือพยาธิสภาพเกิดขึ้นที่ปอด เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด เป็นต้น จึงทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่เมื่อได้รับเชื้อโควิด 19 เข้าไป อาจจะมีอาการรุนแรงและเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงกว่าคนปกติที่ไม่สูบบุหรี่สูงถึง 14 เท่า
อีกทั้ง ผลกระทบจากควันบุหรี่ ไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ที่สูบบุหรี่เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบและมีผลเสียต่อสุขภาพของบุคคลรอบข้าง ที่อาจจะได้รับสารพิษจากควันบุหรี่เข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจหรือที่เรียกว่า “ควันบุหรี่มือสอง”
สคร.12 สงขลา ชวนเลิกบุหรี่ด้วย 4 ล. คือ ล. ที่หนึ่ง “ล็อคเวลา” กำหนดเวลาเลิกบุหรี่โดยต้องเลิกให้ได้ภายใน 2 อาทิตย์, ล. ที่สอง “ลั่นวาจา” ว่าจะเลิกบุหรี่ แล้วบอกคนใกล้ชิดให้รู้ด้วย, ล. ที่สาม “ลาอุปกรณ์ทุกอย่าง” ทิ้งบุหรี่ ไฟแช็ค ให้หมด และ ล. ที่สี่ ลงมือเลิกบุหรี่ทันที
เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกที่จะถึงนี้ สคร.12 สงขลา ฝากความห่วงใยไปยังพี่น้องประชาชน และขอให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันสร้างสังคมให้ปลอดบุหรี่ และเน้นย้ำตามประเด็นการรงค์วันงดสูบบุหรี่โลกในปี 2563 คือ “ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง” เลิกสูบลดเสี่ยง โควิด 19 หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการปรึกษาเกี่ยวกับการเลิกสูบบุหรี่ สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค