สพฉ. จับมือ สวทช. ทีโอที และ ม.เกษตรศาสตร์ เสริมแกร่ง ยกระดับ IT ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว มุ่งสู่บริการดิจิทัล “ไทยแลนด์ 4.0”

พฤหัส ๒๘ พฤษภาคม ๒๐๒๐ ๑๖:๑๗
ณ ห้องประชุม 601 อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี: สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดพิธีลงนามความร่วมมือใน “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้เป็นระบบดิจิทัล” ในการนำศักยภาพและทักษะความชำนาญของแต่ละหน่วยงานเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เพื่อการวิจัยและพัฒนายกระดับเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศของระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้เป็นระบบดิจิทัลและปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) นวัตกรรมอุปกรณ์ และระบบบริการดิจิทัล ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งระบบสามารถเข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็ว รองรับและขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล “ไทยแลนด์ 4.0” โดยมี นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และ ประธานกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ ดร.ภุชงค์ อุทโยภาศ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนาม

เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาระบบที่ให้บริการรับเรื่องเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเบอร์ 1669 ยังเป็นระบบบริการที่รองรับเฉพาะการโทรจากโทรศัพท์ที่สนทนากันด้วยเสียงพูดเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเข้าถึงของคนพิการและผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่เปราะบางอันไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ อันเป็นเหตุให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้หากพบหรือมีภาวะฉุกเฉิน นอกจากนี้ในการปฏิบัติการฉุกเฉินจำเป็นต้องมีการสื่อสารกันระหว่างแพทย์อำนวยการ ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ผู้ปฏิบัติการ และโรงพยาบาลปลายทาง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเทคโนโลยีมารองรับการส่งทั้งภาพภาพ เสียง รวมถึงข้อมูลจากอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือผู้ป่วย ความร่วมมือในครั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญยิ่ง ในการดำเนินงานพัฒนางานวิจัยและพัฒนาปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ในการเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งระบบให้เป็นระบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าว สวทช. มุ่งสร้างเสริมการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม (RDDE) จนสามารถถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ให้เป็นระบบดิจิทัล หรือ D (digital) 1669 ซึ่งพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมอุปกรณ์ และระบบดิจิทัล ที่สะดวกรวดเร็วต่อการปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อให้เป็นระบบที่มีความสากล และให้ประชาชนเข้าถึงการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำ รองรับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัล โดยจะมีการพัฒนาใน 2 ส่วนหลักได้แก่ ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินดิจิทัล ซึ่ง สวทช. พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในส่วนของการให้บริการระบบโทรศัพท์ (Call Center) ในลักษณะ Total Conversation ที่สามารถแจ้งเหตุได้ทั้งเสียง ข้อความ ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว ผ่านระบบคลาวด์ ซึ่งระบบเดิม จะเป็นการแจ้งเหตุเฉพาะรูปแบบเสียง จากการโทรฯ ผ่านหมายเลข 1669 เท่านั้น นอกจากนี้ระบบนี้ยังเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ไอโอที (IoT) ซึ่งไม่ว่าผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือ ชาวต่างชาติ ก็สามารถเข้าถึงบริการรวมถึงความช่วยเหลือได้อย่างเท่าเทียมและทันท่วงที นอกจากนี้ยังมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลสำหรับผู้ป่วยในรถพยาบาล หรือ Emergency Telemedical Direction บนรถฉุกเฉินระดับสูง สำหรับการกู้ชีพในภาวะวิกฤตด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุปกรณ์ Data Gateway ที่ สวทช. พัฒนาให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลจากอุปกรณ์หลายชนิด เช่น อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพ ความดันโลหิต ปริมาณออกซิเจน กล้อง CCTV และอุปกรณ์สแกนลายนิ้วมือ ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ทำให้แพทย์สามารถเรียกดูข้อมูลที่จำเป็นในการประเมินอาการของผู้ป่วยในขณะนำส่งโรงพยาบาลได้แบบ Real Time

โดยทั้งสองระบบนี้ จะนำไปขยายผลการใช้งานครอบคลุมพื้นที่ 60 จังหวัด ภายในระยะเวลา 3 ปี จะทำให้ประเทศลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐและการนำเข้าเทคโนโลยีสารสนเทศจากต่างประเทศ ยกระดับการรับแจ้งเหตุและการสั่งการของเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะวิกฤตขณะนำส่งโรงพยาบาล ประชาชนทุกระดับเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง ตอบโจทย์ประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมยุคไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป

นายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีโครงการนำร่องและร่วมมือกับ สพฉ. สวทช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาตั้งแต่ปี 2558 ในจังหวัดอุบลราชธานี โครงการของเราได้รับการคัดเลือกให้รับทุนสนับสนุนจากองค์กร Asia Pacific Telecommunity หรือ APT ซึ่งเป็นองค์กรระดับภูมิภาค Asia Pacific มีประเทศสมาชิก 38 ประเทศ ถึง 2 ครั้ง โครงการนี้เพื่อให้แพทย์อำนวยการมีข้อมูลจากเครื่องมือวัดทางการแพทย์ที่ติดตั้งอยู่บนรถฉุกเฉิน เสมือนว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนรถฉุกเฉินนั้น พร้อมทั้งสามารถให้คำปรึกษาและสั่งการเจ้าหน้าที่กู้ชีพในดำเนินการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการฉุกเฉินได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

จากความสำเร็จของโครงการนี้ บริษัท ทีโอที มีความเข้าใจในบริบทและความสำคัญของการระบบแพทย์ฉุกเฉิน และมั่นใจในศักยภาพขององค์กรพันธมิตร รวมถึงความพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น 5G, IoT, AI, Big Data, Blockchain และเทคโนโลยีอื่นๆ มาใช้เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ดียิ่งขึ้น เพื่อช่วยเหลือชีวิตประชาชน และลดจำนวนการเสียชีวิตของผู้ป่วยวิกฤติลง ในการตอบนโยบาย Digital Economy Thaiand 4.0 ของรัฐบาล

สำหรับโครงการแรกภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ เป็นการขยายผลความสำเร็จของโครงการนำร่องในจังหวัดอุบลราชธานี ออกไปเป็น 15 จังหวัด 20 จังหวัด และ 25 จังหวัด ในระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 โดยได้รับการคัดเลือกจาก สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่ง บริษัท ทีโอที จะได้นำเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 5 หรือ 5G เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง และ Internet of Medical Thing (IoMT) เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อการส่งข้อมูลสัญญาณยังชีพของผู้ป่วยฉุกเฉินบนรถพยาบาล ให้กับแพทย์อำนวยการ เพื่อให้แพทย์อำนวยการวินิจฉัยและสั่งการทางไกล ในระหว่างการนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาต่อไป

ดร.ภุชงค์ อุทโยภาศ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมมือกับโครงการนี้ของ สพฉ. สวทช. และทีโอที ด้วยนโยบายของ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ในการช่วยเหลือผู้ป่วยและประชาชนให้มีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งให้ความสำคัญของชีวิตของผู้ป่วยขณะนำส่งโรงพยาบาล ที่ต้องแข่งกับเวลา เป็นประโยชน์ของผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ และเสริมความมั่นใจให้กับญาติของผู้ป่วย รวมทั้งข้อมูลที่ได้บูรณาการยังสามารถวางแผนสนับสนุนจากโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยเข้ารักษา รวมทั้งเป็นข้อมูลเพื่อสนับสนุนการทำงานของการแพทย์ฉุกเฉินทั้งในส่วนของรถพยาบาล และศูนย์สั่งการขณะที่นำส่งผู้ป่วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และบูรณาการเชื่อมโยงของระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน และระบบการแพทย์ฉุกเฉิน มาตรฐานข้อมูลจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบเดิม และระบบใหม่ที่จะเสริมประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งมาตรฐานด้านเทคนิคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ภายในรถพยาบาลฉุกเฉินขั้นสูง ที่ต้องดึงข้อมูลออกมาใช้แบบ Real Time เพื่อประมวลผลเป็นข้อมูลสำหรับตัดสินใจของแพทย์อำนวยการ และสนับสนุนการทำงานต่าง ๆ ของระบบแพทย์ฉุกเฉิน หากเราสามารถกำหนดมาตรฐานข้อมูล และมาตรฐานด้านเทคนิคและประกาศใช้ได้ การต่อยอดกับอุปกรณ์ หรือระบบอื่น ๆ ที่ต้องการเชื่อมโยงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนารายใหม่ หรือรายเดิมสามารถที่จะได้พัฒนาระบบที่มีประสิทธิภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไปตามมาตรฐานข้อมูลที่ได้กำหนดไว้ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งอุปกรณ์ที่เชื่อมโยงในอนาคต มีช่องทาง และเทคนิคการส่งข้อมูลที่สอดคล้องกับมาตรฐานเทคนิคและข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการโครงการครั้งนี้ ทำให้การจัดหาอุปกรณ์เพื่อใช้ในการแพทย์ฉุกเฉิน สามารถทดแทนจากยี่ห้อ หรือตัวแทนได้มากขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม