เลี้ยงลูกให้ถูกทาง สร้างสมองด้วย Cognitive Science

ศุกร์ ๒๙ พฤษภาคม ๒๐๒๐ ๑๐:๐๔
ปัจจุบันความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใช้ในการศึกษาร่างกายมนุษย์ก้าวหน้าไปอย่างมาก และเริ่มศึกษาในส่วนที่เป็นความคิดนามธรรมได้มากขึ้น ทั้งเรื่องการรับรู้ของประสาทสัมผัส ระบบการเรียนรู้และวิธีคิดต่าง ๆ ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึกซึ่งเคยเข้าใจกันว่าเป็นเรื่องของ "จิตใจ" ที่ไม่อาจวัด คาดเดา หรือมีหลักฐานมาอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ได้ โดยเน้นศึกษาไปที่ระบบการทำงานของสมอง ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์เราลึกซึ้งและรอบด้านยิ่งขึ้น

วิทยาศาสตร์สาขาที่ศึกษาลักษณะของสมองในด้านนี้โดยเฉพาะเรียกว่า Cognitive Science ซึ่งในภาษาไทยมีคำเรียกหลายอย่าง เช่น ปริชานศาสตร์ ประชานศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์พุทธิปัญญา ถือเป็นสาขาวิชาใหม่ที่เพิ่งเป็นรูปเป็นร่างเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ และเป็นการศึกษาแบบสหวิทยาการที่อาศัยความรู้จากหลายสาขาวิชามาประกอบกัน

ความสำคัญของ Cognitive Science คือ การเชื่อมโยงให้เห็นว่าลักษณะทางกายภาพของสมอง ไม่ว่าจะเป็นระบบประสาทบริเวณก้านสมอง โครงสร้างสมองส่วนต่าง ๆ รวมถึงระบบอวัยวะในร่างกายล้วนสัมพันธ์กับความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของมนุษย์อย่างซับซ้อน ผลการวิจัยในสาขานี้ก่อให้เกิดคุณูปการแก่วงวิชาการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแพทย์ จิตวิทยา ภาษาศาสตร์ ครุศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ มานุษยวิทยา ฯลฯ และแม้แต่ในตลาดหนังสือปัจจุบันก็มีผลงานที่ปรับประยุกต์ Cognitive Science ออกมาให้อ่านกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น หนึ่งในหนังสือที่เราจะแนะนำในวันนี้จึงเป็นเรื่อง ช้าบ้างไม่เป็นไร สมองเด็กฝึกได้ทุกวัน เขียนโดยนายแพทย์คะโตะ โทะชิโนะริ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทจิตวิทยา ชีวจิตวิทยา และ Cognitive Science จากประเทศญี่ปุ่น

เนื้อหาหลักของ ช้าบ้างไม่เป็นไร สมองเด็กฝึกได้ทุกวัน คือการแนะนำให้คุณได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความผิดปกติทางสมองที่สัมพันธ์กับความบกพร่องทางพัฒนาการของเด็ก ๆ และที่สำคัญยังได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความบกพร่องทางพัฒนาการ เพื่อเสริมศักยภาพให้พวกเขาใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคมได้อย่างมีความสุข เมื่อลองนึกตัวอย่างพัฒนาการของน้อง ๆ หรือลูกหลานที่เราอาจเคยเห็นและเป็นกังวล เช่น ขาดทักษะในการทำกิจกรรม สมาธิสั้น รู้สึกท้อแท้ง่าย อารมณ์รุนแรง หรือเอาแต่ใจ สิ่งเหล่านี้มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัว ทำให้เด็กถูกมองว่าเป็น “เด็กไม่เก่ง” “เกียจคร้าน” หรือ “ไม่น่ารัก” ทั้งที่จริง ๆ อาจเกิดจากความบกพร่องทาง “กายภาพ” ของสมอง ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากพันธุกรรมและการเลี้ยงดูที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของเด็กแต่ละคน ตัวอย่างเช่น ความบกพร่องทางการเรียนรู้ (learning disabilities: LD) ที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านการอ่าน การเขียน หรือการคำนวณล่าช้า ถ้าเราไม่เข้าใจว่าลักษณะเช่นนี้แก้ไขได้และปล่อยไว้นานไป ปัญหาก็จะหยั่งลึกจนถึงวันที่พวกเขาเติบโตผู้ใหญ่ ทำให้แก้ไขได้ยาก ภายในเล่มนายแพทย์คะโตะ โทะชิโนะริ พยายามเน้นย้ำหลักคิดพื้นฐานที่สำคัญคือ “ยิ่งใช้ สมองก็ยิ่งพัฒนา” โดยมีผลศึกษาวิจัยภาพถ่ายสมองด้วยเครื่อง MRI เป็นเครื่องพิสูจน์ ผลวิเคราะห์นี้เองทำให้เขาแยกกลุ่มเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ต่างกันไว้และเรียกมันว่า “รหัสสมอง” แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ 8 กลุ่ม ได้แก่ รหัสสมองด้านความคิด รหัสสมองด้านอารมณ์ รหัสสมองด้านการสื่อสาร รหัสสมองด้านการเคลื่อนไหว รหัสสมองด้านการจดจำ รหัสสมองด้านความเข้าใจ รหัสสมองด้านการได้ยิน และรหัสสมองด้านการมองเห็น

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของรหัสสมองด้านต่าง ๆ วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของความบกพร่อง และแนวทางปฏิบัติตัวกับเด็ก ๆ ที่ผู้ปกครองทำได้ที่บ้าน เพื่อช่วยบำบัดอาการผิดปกติและเสริมผลของการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางให้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น สิ่งที่ไม่ควรกระทำเพราะอาจกระทบต่อพัฒนาการของสมอง อย่างการพูดไปตามอารมณ์ของผู้ปกครองจะมีผลกระทบต่อรหัสสมองด้านการจดจำของลูก เพราะเด็กไม่เข้าใจว่าเวลาทำอะไรบางอย่างอยู่แล้วพ่อแม่ไม่ดุเขา แต่พอพ่อแม่อารมณ์ไม่ดีกลับดุเขาเสียอย่างนั้น เด็กจึงสับสนในกฎเกณฑ์ที่ไม่แน่นอน

อีกตัวอย่างคือ การบ่นพึมพำหรือตวาดเสียงดังด้วยความหงุดหงิด พฤติกรรมนี้ส่งผลต่อรหัสสมองด้านอารมณ์ โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาแสดงอารมณ์ไม่เก่ง หากพ่อแม่แสดงอารมณ์รุนแรงใส่ก็ยิ่งทำให้ความบกพร่องนั้นรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีการพูดคุยโต้ตอบกับเด็ก เราไม่ควรโต้ตอบกับพวกเขาเร็วเกินไปเพราะอาจทำให้รหัสสมองของเด็กหยุดทำงาน เนื่องจากรหัสสมองด้านความเข้าใจของเด็กทำงานช้ากว่าผู้ใหญ่ ถ้าพ่อแม่พูดโต้ตอบลูกทันที อาจตัดโอกาสที่เขาจะได้ใช้รหัสสมองทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ท้ายเล่มคุณหมอยังรวบรวมกิจกรรมช่วยฝึกรหัสสมองด้านต่าง ๆ ทั้งที่เป็นกิจวัตรให้เด็ก ๆ ฝึกทำทุกวัน หรือกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัว เช่น พ่อแม่ถามลูกว่า คาบที่ 5 ของหนูวันนี้เรียนวิชาอะไรเอ่ย แล้วถามต่อว่าคาบที่ 4 ล่ะ หากเด็กจำได้ดีจึงถามเพิ่มว่าหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นนะ การถามย้อนเวลาในแต่ละวันช่วยให้รหัสสมองด้านการจดจำของเด็กพัฒนา กิจกรรมที่แนะนำไว้เหล่านี้มีเทคนิคประยุกต์ให้ยากหรือง่ายตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละคนด้วย และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ทั้งหมดเป็นกิจกรรมสนุก ๆ เพราะความสนุกคือหัวใจของการพัฒนารหัสสมองเด็ก ตัวอย่างที่ยกมานี้ถือว่าเป็นแค่ “น้ำจิ้ม” ที่แสดงให้เห็นว่าความรู้ด้าน Cognitive Science ช่วยให้เราเข้าใจพัฒนาการของสมองเด็กดีขึ้นอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขข้อบกพร่องให้สอดคล้องกับพัฒนาการของพวกเขา ยิ่งในช่วงเวลาที่มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเช่นนี้ เรามั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นผู้ช่วยที่ยอดเยี่ยมของพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างแน่นอน เพราะนอกจากทำให้เราเข้าใจบุตรหลานแล้ว ยังมีไอเดียดี ๆ กิจกรรมเพลิดเพลินไว้ให้นำไปใช้เชื่อมปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวได้อีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ