GEP แต่งตั้ง คันทรี่ กรุ๊ป เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ GEP ในฐานะผู้นำธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

ศุกร์ ๐๕ มิถุนายน ๒๐๒๐ ๑๓:๐๖
นายออง ทีฮา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Green Earth Power (Thailand) Company Limited (กรีนเอิร์ธ พาวเวอร์ ไทยแลนด์ จำกัด) หรือ GEP เปิดเผยว่า GEP มีแผนที่จะเป็นผู้นำธุรกิจพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน ประกอบกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ เช่น แสงอาทิตย์และลม จำหน่ายให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีความร่วมมือของผู้ลงทุนหลักคือ บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) บจก.อีซีเอฟ พาวเวอร์ ในฐานะบริษัทย่อยของ บมจ. อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) บมจ.เมตะ คอร์ปอเรชั่น (META) และบริษัท Noble Planet PTE. Ltd. (“NP”) โดย GEP ได้เริ่มกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2554 ปัจจุบันบริษัทฯมีทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว 215,755,800.00 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2,157,558.00 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท

สำหรับโครงการปัจจุบันที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 220 เมกะวัตต์ ณ เมืองมินบู ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพ เมียนมา ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อพัฒนาและดำเนินงานแบบ BOT (Built-Operate-Transfer) ระยะเวลาสัญญา 30 ปี ด้วยอัตรารับซื้อค่าไฟฟ้า 0.1275 USD / KWh แบ่งเป็นระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด 4 เฟส โดย 3 เฟสแรกมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 50 MW เฟสสุดท้าย 70 MW ขนาดพื้นที่รวมโครงการ 836 เอเคอร์ หรือเท่ากับ 2,115 ไร่ ได้รับสิทธิเช่าพื้นที่จากรัฐบาลและบริษัทเอกชนในประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อมีการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วจะขายให้กับ Electric Power Generation Enterprise (“EPGE”) ภายใต้กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

“ภาพรวมของอุตสาหกรรมพลังงาน มีความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ อาทิ ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 350,000,000 kWh/ปี รองรับการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 200,000 ครัวเรือน สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น อีกทั้งการเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในเมียนมามีเพียงแค่ร้อยละ 50 ในช่วงปี 2562 และตั้งเป้าการเข้าถึงไฟฟ้าร้อยละ 100 ภายในปี 2573 ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในประเทศเมียนมาผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์แล้ว

จำนวน 5,642 MW และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 4,940 MW รัฐบาลยังมีแผนการพัฒนาขยายสายส่งกระแสไฟฟ้าเพิ่มอีกรวมกว่า 5,302 ไมล์ทั่วประเทศเมียนมา

นอกจากนี้แล้วบริษัทฯ ยังมีแผนการในการมุ่งพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูทั้งสี่เฟสให้สำเร็จลุล่วง และพัฒนาโครงการพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนโครงการอื่น โดยมีเป้าหมายหลักเป็นประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาตลอดจนริเริ่มโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ประเทศอื่นในภูมิภาคด้วย

โดยผลการดำเนินงานของบริษัทล่าสุดในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 มีกำไรจากการจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์เท่ากับ 88.58 ล้านบาท บริษัทเริ่มมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์สำหรับเฟสที่ 1 ขนาด 50 MW ที่แล้วเสร็จ นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา

บริษัทฯ จึงมีแผนที่จะเตรียมตัวสำหรับการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในขยายธุรกิจและเป็นเงินหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ตลอดจนพัฒนาระบบบริหารจัดการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จของพันธกิจที่ตั้งไว้คือ การเป็นผู้นำทางความคิดที่จะลดการปล่อยมลพิษเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยแต่งตั้ง บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน” นายออง ทีฮา กล่าว

ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สแกน อินเตอร์ หรือ SCN เปิดเผยว่า SCN เข้ามาผนึกกำลังกับ GEP ในสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 40 เราถือเป็นผู้บุกเบิกด้านพลังงานในเมียนมา เปิดโอกาสให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ในอนาคต ไม่ใช่เพียงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หากแต่เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกธุรกิจพลังงานที่จะเกิดขึ้นได้ในเมียนมา นอกไปจากนี้โครงการยังมีความมั่นคงสูง เนื่องจากสร้างมาจากพื้นฐานความต้องการการใช้ไฟฟ้าในประเทศอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เน้นภาพลักษณ์หรือเน้นด้านการใช้พลังงานสะอาด อีกทั้งยังถือเป็นการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนสามารถต่อยอดการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ ได้อีก สร้างโอกาสให้เกิดความมั่นคงด้านสาธารณูปโภค ที่มีนัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของประเทศเมียนมา

มั่นใจว่าโรงไฟฟ้ามินบูสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างดีให้กับ สแกน อินเตอร์ และผู้ถือหุ้นทุกราย รวมถึงผู้ที่กำลังจะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่ๆ อย่างแน่นอน

นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค หรือ ECF เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 220 เมกะวัตต์ ประเทศเมียนมา ในสัดส่วนร้อยละ 20 โดยลงทุนผ่าน บริษัท อีซีเอฟ พาวเวอร์ จำกัด ในฐานะบริษัทย่อยของบริษัท โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารงานของ GEP

สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทน ECF ในปีนี้เห็นการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยที่ผ่านมารับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลภาคใต้ขนาด 7.5 เมกะวัตต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มินบู ที่เฟสแรก (50 MW) สามารถจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ COD และเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรงวดแรกเข้ามาเต็มในไตรมาส 4/62 ส่วนเฟสที่ 2 3 และ 4 อยู่ระหว่างวางแผนเพื่อก่อสร้างให้ครบโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าลงทุน

นายศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เมตะ คอร์ปอเรชั่น หรือ META กล่าวว่า META ถือเป็นผู้เริ่มบุกเบิกการเข้าลงทุนใน GEP เพื่อเข้ามาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ในเมียนมา นอกจากเป้าหมายทางธุรกิจแล้วยังมีเป้าหมายที่ต้องการให้ชาวเมียนมามีไฟฟ้าใช้เพื่อการดำรงชีวิตตลอดจนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ นอกไปจากนี้โครงการมินบูยังเป็นโครงการที่มีศักยภาพสูง เป็นโรงไฟฟ้าโรงแรกและใหญ่ที่สุดในเมียนมา ทั้งนี้ META ยังเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้ามินบูที่ ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้างเฟส 2, 3 และ 4 ตามลำดับ ความสำเร็จในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูเฟสที่ 1 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทฯ เมตะ ในการรับเหมาก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ มั่นใจว่าในอนาคตจะมีส่วนร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคต่อไป

ดร. วีรพัฒน์ เพชรคุปต์ กรรมการบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า GEP มีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับโครงสร้างทางการเงิน โครงสร้างการดำเนินธุรกิจ ให้มีความเหมาะสมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และอยู่ในระหว่างการเตรียมแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) เพื่อยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยคาดว่าจะสามารถยื่นไฟลิ่งและระดมทุนได้เร็ว ๆ นี้

“GEP เป็นบริษัทที่มีพื้นฐานที่ดี มีศักยภาพในการเติบโต ด้วยการดำเนินงานจากทีมผู้บริหารที่มีความรู้ ความเข้าใจ มีศักยภาพ และประสบการณ์ในด้านธุรกิจพลังงาน และมีการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง การระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์จะช่วยเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจของบริษัท ให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด สามารถแข่งขันได้ รองรับการขยายตัวของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก” ดร.วีรพัฒน์ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย