สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือสพฐ ร่วมกับ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาและเครือข่ายโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เพื่อปลูกฝังนิสัยรักวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กนักเรียนระดับปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 จนถึงปัจจุบัน โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีการจัดการอบรมเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network ; LN) วิทยากรเครือข่ายท้องถิ่น (Local Trainer ; LT) และครูผู้สอนระดับปฐมวัยให้มีศักยภาพอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี
ในปีงบประมาณ 2563 ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ทำให้ต้องงดหรือเลื่อนการจัดประชุมสัมมนาแบบกลุ่ม และสถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน ทั้งในและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนแปลงการเปิดภาคเรียนปกติในเดือนพฤษภาคมเป็นเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 รวมทั้งเพื่อเป็นการป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตามนโยบายรัฐบาล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้จัดโครงการการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ด้วยระบบทางไกลขึ้นมา เพื่อให้ครูผู้สอนระดับปฐมวัยได้ทบทวนแนววิธีการสอน (pedagogy) และเรียนรู้การทำกิจกรรมตามแนวทางโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย และ เป็นการเตรียมความพร้อมให้ครูผู้สอนระดับปฐมวัยสามารถจัดกิจกรรมในชั้นเรียนในช่วงเปิดเทอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมพัฒนาคุณภาพครูผู้สอนระดับปฐมวัยด้านเทคนิคการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ช่วยผลักดันให้โรงเรียนตื่นตัว และพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตลอดเวลา และเพื่อให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการ ทำกิจกรรม โดยการร่วมทำการทดลองง่าย ๆ ช่วยเตรียมอุปกรณ์การทดลองต่าง ๆ ส่งเสริมการทดลองวิทยาศาสตร์ ที่บ้านให้กับเด็ก ๆ
ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดตารางออกอากาศ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563 ทุกวันอังคาร และพฤหัสบดี เวลา 10.00 – 12.00 น. โดยออกอากาศผ่านช่องทาง YouTube : OBEC TV Facebook : OBEC Channel และเว็บไซต์ สถานีโทรทัศน์การศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่อง OBECTV 1 และอีกหนึ่งช่องทางในการติดตามการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ คือ Facebook : โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย เครือข่าย สพฐ. ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้รับชมปลายทางสามารถเตรียมสื่อและอุปกรณ์ ได้ล่วงหน้า มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม และตอบคำถาม โดยการถ่ายทอดออกอากาศในแต่ละตอน จะมีการโพสต์เชิญชวนคุณครู ผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจ ร่วมรับชมและเตรียมอุปกรณ์ และเมื่อสิ้นสุดกิจกรรมต่าง ๆ จะมีคำถามจากกิจกรรมการทดลอง รวมถึงข้อคำถามเกี่ยวกับการรับชม ให้ผู้เข้าอบรมปลายทางได้ส่งคำตอบ ข้อเสนอแนะ และภาพกิจกรรม การทดลองมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านทาง Facebook : โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย เครือข่าย สพฐ. โดยรายการออกอากาศมีทั้งหมด 16 ตอน ขณะที่ผลการดำเนินการที่ผ่านมา ข้อมูลที่ได้จากการร่วมกิจกรรมของศึกษานิเทศก์ คุณครู ผู้ปกครอง ปลายทาง พบว่า ศึกษานิเทศก์ และคุณครูผู้สอนปลายทางร่วมรับชมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ฯ ทบทวนแนววิธีการสอน (pedagogy) และเรียนรู้การทำกิจกรรมการทดลอง ไปพร้อมกับวิทยากร มีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี ทั้งการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมไปพร้อมกันที่โรงเรียน และทำกิจกรรมรายบุคคลที่บ้าน ทำให้ผู้เข้าร่วมการอบรมมีความรู้ความเข้าใจหลักการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เข้าใจเกี่ยวกับการจัดประการณ์การเรียรนรู้ ตามกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยกระบวนการสืบเสาะ และมีความรู้ในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย รวมไปถึงมีความตระหนักและเห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง อีกทั้งผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม โดยการร่วมทำการทดลองง่าย ๆ ช่วยเตรียมอุปกรณ์การทดลอง ส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุขและสนุกกับการทำกิจกรรมเนื่องจากกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการทดลองจะช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจและอยากเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้ปกครองมีบทบาทช่วยสนับสนุนการทำกิจกรรมที่บ้าน และในระหว่างการถ่ายทอดออกอากาศการทำกิจกรรมต่าง ๆ ยังได้รับข้อคิดเห็นที่หลากหลายจากการตอบคำถามของผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมปลายทาง มีการแลกเปลี่ยนรู้เกิดขึ้น