ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลกติดโควิด-19 กว่า 2.2 หมื่นคน หรือร้อยละ 10 ของจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่ประเทศไทยตัวเลขทะลุ 100 คน และเป็นพยาบาลกว่าร้อยละ 40 เกินครึ่งติดเชื้อขณะดูแลผู้ป่วย และการศึกษาปัญหาสุขภาพจิตบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศจีนช่วงระยะเวลาสั้น ๆ จากนิตยสารทางการแพทย์ JAMA พบว่า ร้อยละ 50.4 มีปัญหาโรคซึมเศร้า ร้อยละ 44.6 มีปัญหาโรควิตกกังวล ร้อยละ 34 มีปัญหานอนไม่หลับ และร้อยละ 71.5 มีปัญหาโรคเครียด เช่นเดียวกับผลการสำรวจสุขภาพจิตในช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 (rapid survey) โดยกรมสุขภาพจิต พบว่า ระดับความเครียดของบุคลากรเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 24.0 ในการสำรวจครั้งที่ 1 เพิ่มเป็นร้อยละ 34.8
“การหาวิธีช่วยเหลือและดูแลสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ เป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับโควิด-19 สามารถผ่อนคลายได้ด้วยกำลังใจจากคนในครอบครัว เพื่อน ๆ และคนในชุมชน สสส. ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต และโครงการ “ภูมิคุ้มใจ” ธนาคารจิตอาสา บริษัทชูใจ กะ กัลยาณมิตร และแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ผลิตหนังสือภาพ เรื่อง “เรายังรักกันทุกวันจ้ะ” เพื่อร่วมส่งกำลังใจ ในครั้งนี้มีการส่งมอบแก่อธิบดีกรมสุขภาพจิต ในกิจกรรม “การจัดฟื้นฟูจิตใจบุคลากรทางการแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด–19” จำนวน 2,000 เล่ม ” ดร.สุปรีดา กล่าว
นายธีระพล เต็มอุดม ผู้อำนวยการธนาคารจิตอาสาและความสุขประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทางภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญา สสส. ได้ดำเนินโครงการ “ภูมิคุ้มใจ” ชวนคนไทยอยู่บ้านใช้เวลาพัฒนาคุณภาพจิตในแนวคิด “หยุดเดินทางภายนอก ย้อนกลับมายังใจ” ด้วยการดูแลจิตใจตัวเองและผู้อื่น ควบคู่กับแนวทางฝึกปฏิบัติ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มนี้ ต้องเคร่งครัด Social Distancing ไม่ได้ใกล้ชิดครอบครัวตามปกติได้ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ๆ ที่ยังไม่เข้าใจ หรือสับสนว่า ทำไมถึงกอดหรือหอมแก้มเหมือนเดิมไม่ได้ ทางโครงการและเครือข่ายจึงออกแบบหนังสือภาพเพื่อสื่อสารให้เด็ก ๆ และครอบครัวได้เข้าใจการสื่อสารภาษารักในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การบอกรักด้วยคำพูด การให้เวลาคุณภาพผ่านวิดีโอคอล การมอบของขวัญแทนใจ ที่แม้ภาวะห่างกัน แต่ทำให้ใจยังใกล้ชิดกันได้
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า นิทานและหนังสือภาพเป็นมิตรแท้ของเด็ก ๆ และเป็นตัวแทนของความสุข ความเพลิดเพลิน และความรื่นรมย์ ที่ผู้ใหญ่ได้ส่งมอบเป็นสื่อที่สามารถอธิบายเรื่องยาก ๆ ภาษายากๆ ที่เด็กมีความจำกัดได้เข้าใจผ่านภาพ เรื่องราว และคำง่าย ๆ ได้ หนังสือภาพ เรายังรักกันทุกวันจ้ะ ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านงานบรรณาธิการ คือนางสาวระพีพรรณ พัฒนาเวช และนักสร้างสรรค์ภาพรางวัลดีเด่นหลายต่อหลายปี
ติดต่อกัน นางวชิราวรรณ ทับเสือ และนายกฤษณะ กาญจนาภา รวมถึงมุมมองการสื่อสารจากนักครีเอทีฟรุ่นใหม่ บริษัทชูใจ กับกัลยาณมิตร ทำให้เป็นผลงานที่อบอุ่นและทรงพลังเพื่อส่งเป็นสื่อแทนความรัก แทนการขอบคุณมอบแก่บุคลากรทางการแพทย์อย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ทาง สสส. และเครือข่ายผู้ผลิตหนังสือจะกระจายถึงมือครอบครัวบุคลากรทางการแพทย์ที่มีลูกในช่วงปฐมวัย ผ่านช่องทางต่าง ๆ ผู้สนใจสามารถอ่าน และดาวน์โหลดหนังสือภาพได้ที่ www.happyreading.in.th