แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ติดอาวุธบัณฑิตใหม่ ฝ่าวิกฤตตลาดงานร่วง แนะพัฒนาทักษะรอบด้าน เพื่อเตรียมความพร้อมอย่างแข็งแกร่ง

จันทร์ ๐๘ มิถุนายน ๒๐๒๐ ๑๑:๒๙
ปี 2563 คงเป็นฤดูมรสมลูกใหญ่สำหรับบัณฑิตจบใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะต้องเผชิญกับอุปสรรครอบด้านสารพัด ทั้งปัญหาสงครามการค้าระหว่างประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ จนถึงปัญหาจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 ซึ่งระบาดไปทั่วโลก จนทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกต่างหยุดชะงัก จนแทบหยุดอนาคตเส้นทางแรงงานก้าวแรกของกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน หรือที่เราเรียกว่า First Jobber

ในแต่ละปีของประเทศไทยจะมีนักศึกษาจบใหม่ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานเฉลี่ยปีละ 4 แสนกว่าราย โดยล่าสุด สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ระบุว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเติมการจ้างงานของไทยในปี 2563 ให้ชะลอตัวลงไปกว่าเดิม นอกจากนี้ ยังจะมีนักศึกษาจบใหม่ที่จะทยอยเข้ามาในระบบแรงงานเพิ่มเติมช่วง พ.ค.นี้ประมาณ 5 แสนคน ซึ่งจะมีโอกาสได้งานทำค่อนข้างต่ำ

ส่วนข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจเดือนมีนาคม 2563 ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ว่างงานประมาณ 3.92 แสนคน เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีผู้ว่างงานประมาณ 3.46 แสนคน

จากสถานการณ์ตลาดแรงงานข้างต้นส่งผลให้ “บัณฑิตจบใหม่” ที่ไม่เคยเจอสถานการณ์เช่นนี้ไม่รู้จะต้องเตรียมตัวอย่างไรหรือต้องทำอย่างไรในการก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญตลาดแรงงานเชิงนวัตกรรมชั้นนำระดับโลก ได้เสนอมุมมองการเตรียมความพร้อมก่อนหางาน และการเสริมทักษะเพื่อสร้างความได้เปรียบในการลงแข่งขันอย่างมืออาชีพ

ถ้าหากว่าคุณ คือ “บัณฑิตใหม่” ที่ยังขาดประสบการณ์ ควรเริ่มหางานอย่างไร นับเป็นคำถามง่ายๆ ที่อาจจะตอบยาก สำหรับน้องๆ บัณฑิตจบใหม่ หรือเป็นบัณฑิตที่จบมาแล้วไม่ได้หางานทำทันที เมื่อต้องการมองหางาน และไม่มีประสบการณ์การทำงานมาก่อน คำถามด้านล่างเป็นคำถามสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ควรรู้ไว้เพื่อตอบตัวเอง และเตรียมตัวให้พร้อมก่อนหางานให้ประสบความสำเร็จ

ถ้าเรายังไม่มีจุดมุ่งหมายเส้นทาง “บัณฑิตใหม่” หรือ ผู้ที่กำลังหางานอาจจะไม่มีทิศทางที่ชัดเจน โดยเปรียบง่ายๆ เวลาเราไปเลือกซื้อของ ถ้าเราต้องการจะซื้อรองเท้าไปเดินป่าเราก็จะมุ่งหาแต่ร้านที่ขายรองเท้าประเภทนั้นๆ ถ้าเรายังค้นหาตัวเองไม่พบ แนะนำให้วิเคราะห์ตัวเราว่ามีบุคลิกภาพแบบไหน เพื่อที่จะหาลักษณะงานที่ตรงกับบุคลิกภาพของเรา เช่น เป็นคนที่ชอบนั่งทำงานนานๆ อยู่กับที่ ชอบเทคโนโลยี ดังนั้น การหางาน IT จึงเป็นตัวเลือกที่ใช่สำหรับเรา เราควรศึกษาตลาดงานของตำแหน่งนี้ก่อนที่จะสมัครงาน

นอกจากนี้ อาวุธที่สำคัญ ที่ขาดไม่ได้ก็คือ การจัดทำประวัติย่อส่วนบุคคล (Resume) หากพูดถึง "Resume" นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งแรกที่จะทำให้องค์กรรู้ถึงประวัติการเรียน การฝึกงาน กิจกรรมและการทำงานต่างๆ แม้เป็นงานระยะสั้นหรืองานโครงการก็ตาม ดังนั้น "Resume" ที่ดี จะต้องเขียนให้ตรงใจ เพราะในบริษัทใหญ่ๆ จะมีการส่งประวัติเข้ามาสมัครงานจำนวนมาก บางครั้งฝ่ายบุคคลมีเวลาในการดูแต่ละรายเพียงไม่กี่วินาที เพราะสิ่งที่ฝ่ายบุคคลต้องการและค้นหา คือ Keyword เช่น ต้องการรับสมัครพนักงานโซเชียลมีเดีย ฝ่ายบุคคลจะต้องหาคำว่า "โซเชียลมีเดีย" ถ้าประวัติของคุณมีคำนี้ คุณก็จะมีโอกาสถูกเรียกสัมภาษณ์ แต่ถ้าคุณไม่มีประสบการณ์ คุณต้องสามารถบอกได้ว่า คุณมีอะไรที่เหมาะกับตำแหน่งงานนี้บ้าง ไม่ว่าจะกิจกรรมที่เคยทำระหว่างที่เรียน การฝึกงาน การเรียนรู้เพิ่มเติม และสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาพัฒนาและประยุกต์ใช้กับตำแหน่งงานนี้ได้อย่างไร และสุดท้ายการจัดทำ"Resume" ควรเป็นภาษาอังกฤษ จัดรูปแบบให้เรียบร้อย เป็นระเบียบ อ่านง่าย

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน” หรือ อย่า "เลือกงาน" บางคนอาจคิดว่า การหางานจะต้องเลือกงานที่ได้เงินเดือนมากๆ คงเป็นเรื่องยากสำหรับแรงงานที่ยังไม่มีประสบการณ์ แต่ถ้าเราทำงานได้ดี เงินเดือนดีๆ จะตามมาอย่างแน่นอน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ผู้ไม่มีประสบการณ์ หรือ บัณฑิตจบใหม่ ไม่ควรมองแค่เพียงเรื่องเงิน ควรให้ความสำคัญกับการหาประสบการณ์ และถือว่าการเริ่มต้นเข้าทำงานเป็นการเรียนรู้ แล้วค่อยๆพัฒนาศักยภาพจะสามารถทำให้เติบโตในตำแหน่งหน้าที่ และค่าตอบแทนเงินเดือนก็จะเพิ่มขึ้น

ความสามารถในทักษะด้านภาษานับป็นการเพิ่มอาวุธในตัวคุณ ภาษาที่สองและสามนับเป็นอาวุธสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสการทำงานของคุณ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เราต้องยอมรับว่า มันกลายเป็นทักษะพื้นฐานไปแล้ว แต่ถ้ายิ่งมีความสามารถในภาษาที่ 3 อย่าง จีน ญี่ปุ่น ด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะดีมากขึ้น ควรหาโอกาสเรียนภาษาเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการสมัครงาน อีกทั้ง การเรียนรู้เพื่อเสริมทักษะความรู้เฉพาะทางในสายงานนั้นก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ วันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนรู้ในทักษะที่นอกตำราเรียนเป็นอีกหนึ่งอาวุธที่จะทำให้แตกต่าง อาทิ ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง การถ่ายทำและตัดต่อคลิปวีดิโอ เป็นต้น

สำหรับการเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับโลกทำงานด้วยคำถาม “วันนี้คุณพร้อมหรือยัง” นับเป็นอีกหนึ่งคำถามที่มองข้ามไม่ได้ ในโลกของการทำงานต่างกับโลกใบเล็กสมัยคุณยังเป็นนักศึกษา เนื่องจากกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกัน วัฒนธรรมองค์กร คนที่เราร่วมทำงานด้วยมีความหลากหลายอายุประสบการณ์ต่างกัน ถ้าหากเป็นองค์กรขนาดใหญ่ความแตกต่างก็จะมีมากขึ้น คุณจะต้องปรับตัว และเตรียมความพร้อม ดังนั้น การทำงานให้ประสบความสำเร็จ คุณจะต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีสำคัญพอๆ กับการมีทักษะด้านงานที่ดีควบคู่กัน

ทั้งนี้ จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา กอปรทั้งมาเจอวิกฤตไวรัสโควิดยิ่งส่งผลให้ภาพรวมตลาดแรงงานเสมือนเจอมรสุมลูกใหญ่กระหน่ำซ้ำ ถ้าหากคุณกำลังจะเป็นแรงงานที่กำลังเข้าสู่ตลาดงานที่มีการแข่งขันสูงทั้งจากภาวะการณ์ที่เกิดขึ้น การติดอาวุธนับเป็นเครื่องมือที่สำคัญ รวมถึงประสบการณ์ที่ไม่ได้หามาได้ง่าย ต้องใช้เวลา เช่นเดียวกับโอกาส ที่จะเข้ามาในชีวิต เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับโอกาส และประสบการณ์ใหม่ๆ เมื่อมีโอกาส จงรีบคว้ามันและทำให้ดีที่สุด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๕๕ FTI รับ 2 รางวัล จากกระทรวงแรงงานและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ประจำปี 2567
๑๔:๕๕ OKMD ร่วมกับ CMDF จัดประกวดประยุกต์ใช้ความรู้ด้านการเงินการลงทุน หนุนไอเดียเด็กมัธยม ต่อยอดทำธุรกิจเพื่อสังคม
๑๔:๓๐ แอลจีเผยเทรนด์ทำงานปี 2025 พร้อมเทคนิคใช้โน๊ตบุ๊กแบบสมาร์ทเวิร์กเกอร์
๑๔:๓๓ ทีเอ็มบีธนชาต สำรองธนบัตร 13,000 ล้านบาท ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
๑๔:๒๒ เจียไต๋แมน เมื่อรุ่นเดอะผนึกกำลังกับรุ่นใหม่ เติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง
๑๔:๒๙ สุขภาพดีแบบไม่ต้องเดี๋ยว! รพ.วิมุต ชวนตรวจสุขภาพ - ปรับพฤติกรรมสไตล์คนไม่มีเวลาสร้างสุขภาพที่ดีในระยะยาวรับปีใหม่
๑๔:๕๐ HBA ส่องภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านปี 68 เผชิญความท้าทายใหม่ เร่งงัดกลยุทธ์ฝ่าแข่งขันสูง รุกเจาะตลาดใหม่ 'รอจังหวะฟื้น'
๑๔:๕๒ ดิเอมเมอรัลด์ช่วยสนับสนุนงานกาชาด
๑๔:๓๑ เอพี ไทยแลนด์ รับ 3 รางวัลจาก Meta ตอกย้ำจุดยืน แบรนด์อสังหาฯ ที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์และดาต้า
๑๔:๓๕ มาคาเลียส แหล่งรวม อี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย เผย 10 เทรนด์ท่องเที่ยวไทยปี