นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยหลังจากการประชุมคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ครั้งที่ 12/2563 วันที่ 5 มิถุนายน 2563 ว่า คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร นำโดย นายจารึก บุญพิมพ์ ประธานกรรมการจัดการหนี้ฯ ได้พิจารณาอนุมัติรายชื่อเกษตรกรเพื่อขออนุมัติชำระหนี้แทนเกษตรกรสมาชิกที่มีคุณสมบัติถูกต้อง ได้สิทธิในการชำระหนี้แทนซึ่งมีสถานะเป็นหนี้เร่งด่วน และเป็นหนี้ที่อยู่ในหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถชำระหนี้แทนเกษตรกรได้ จำนวน 84 ราย 133 สัญญา มูลหนี้ 61,758,479.16 บาท รวมรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับอนุมัติให้ชำระหนี้แทนในปี 2563 จำนวน 479 ราย 645 สัญญา จำนวนเงิน 329,124,841.26 บาท จากนั้นเกษตรกรที่ได้รับการอนุมัติชำระหนี้แทนจะไปจัดทำแผนฟื้นฟูตามระเบียบการฟื้นฟูฯ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้สำนักจัดการหนี้ของเกษตรกรส่งรายชื่อเกษตรกรให้สำนักฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเพื่อประสานกับองค์กรเกษตรกร และเกษตรกรที่ได้รับการจัดการหนี้ให้เป็นผู้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และเป็นไปตามนโยบายของประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่อยากให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี พ้นจากภาระหนี้สิน มีที่ดินทำกินและมีที่อยู่อาศัยต่อไป
สำหรับเกษตรกรที่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน ประสงค์จะให้กองทุนฟื้นฟูฯ ช่วยเหลือ สามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกรตามประกาศ ต้องมีคุณสมบัติ คือ 1.เป็นเกษตรกรตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด 2.เป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกร 3.มีหนี้ที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม 4.เป็นหนี้ในระบบตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ หนี้โครงการส่งเสริมของรัฐ , หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินประเภทธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือนิติบุคลรวมทั้งหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันเกษตรกร ให้เกษตรกรที่ประสงค์ขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกร ยื่นคำขอผ่านองค์กรเกษตรกรที่เกษตรกรเป็นสมาชิก ได้ที่สำนักงานสาขาจังหวัดที่องค์กรตั้งอยู่ โดยเอกสารที่ใช้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนหนี้มีดังนี้ คำขอขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกรตามแบบที่สำนักงานกำหนด, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน, หลักฐานแห่งหนี้เช่น สัญญาจำนอง สัญญากู้ยืม หรือสมุดบัญชีเงินกู้ , สำเนาเอกสารสิทธิ์ กรณีหนี้มีหลักประกัน, หนังสือแสดงความยินยอมให้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันให้แก่กองทุน โดยเกษตรกรที่มีหนี้เร่งด่วนให้เกษตรกรแจ้งสำนักงานสาขาจังหวัดประสานสถาบันเจ้าหนี้ เพื่อชะลอการดำเนินคดีก่อนวันครบกำหนด โดยแนบเอกสารคำฟ้อง หรือ คำพิพากษา หรือ คำบังคับคดี ตามแต่กรณี หากมีข้อสงสัยประการใดสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ส่วนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเกษตรกร) โทร. 0 2158 0342 ต่อ 8102 และสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ สาขาจังหวัดทั่วประเทศในวัน และเวลาทำการ
ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกรเป็นการได้รับสิทธิเบื้องต้นตามกฎหมาย แต่การจะได้รับการจัดการหนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ที่คณะกรรมการจัดการหนี้กำหนดต่อไป นายสไกรกล่าว