ข้อมูลสถิติจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ตอกย้ำความสำเร็จของกาตาร์ แอร์เวย์สที่ยืนหยัดให้บริการเพื่อพาผู้โดยสารกลับบ้านและสร้างความเชื่อมั่นในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนเมษายนมีปริมาณขนส่งผู้โดยสาร คนต่อกิโลเมตร (Revenue Passenger-Kilometers หรือ RPKs) มากกว่า 1,300 ล้าน RPKs คิดเป็นร้อยละ 17.8 ของส่วนแบ่งตลาดทั่วโลก มากกว่าคู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุดถึง 3 เท่า และมากกว่าปริมาณรวมของคู่แข่งที่มีอันดับถัดไปอีก 4 รายรวมกัน นอกจากนี้ ด้านกาตาร์ แอร์เวย์ส คาร์โก ได้บริการขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่องโดยมีปริมาณขนส่งสินค้าทางอากาศ ตันต่อกิโลเมตร (Cargo Tonne-Kilometers หรือ CTK) กว่า 900 ล้าน CTK คิดเป็นร้อยละ 7.2 ของส่วนแบ่งตลาดโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมการค้าและการส่งออก รวมถึงขนส่งเวชภัณฑ์อุปกรณ์การแพทย์และสิ่งของช่วยเหลือไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมการบินเป็นอย่างมาก ขณะที่กาตาร์ แอร์เวย์สจะยังคงยึดมั่นในภารกิจพาผู้โดยสารกลับภูมิลำเนา ที่ผ่านมา กาตาร์ แอร์เวย์สถือเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุด โดยให้บริการเที่ยวบินระยะทางรวมกว่า 50 ล้านกิโลเมตร เพื่อขนส่งผู้โดยสารกว่า 1.8 ล้านคนเดินทางกลับภูมิลำเนาบนเที่ยวบินกว่า 15,000 เที่ยวบิน นอกจากนี้ สายการบินฯยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและบริษัททั่วโลกในการจัดเที่ยวบินเช่าเหมาลำและเที่ยวบินเสริมพิเศษรวมกว่า 220 เที่ยว ทั้งหมดนี้ทำให้กาตาร์ แอร์เวย์สได้สั่งสมประสบการณ์มากกว่าใครอื่น ทั้งในด้านความปลอดภัยและการดูแลผู้โดยสารในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมา
นายอัคบาร์ อัล บาเกอร์ ประธานบริหารกลุ่มสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส กล่าวว่า ผมยอมรับข้อมูลสถิติดังกล่าวจาก IATA ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการปรับตัวในภาวะวิกฤตของกาตาร์ แอร์เวย์ส รวมถึงยังเป็นเครื่องยืนยันถึงปณิธานที่เราต้องการพาผู้โดยสารเดินทางอย่างปลอดภัยและให้บริการคู่ค้าของเราในการขนส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทาง ทั้งนี้ สถานการณ์ความท้าทายที่คาดไม่ถึง ก็จะต้องถูกแก้ไขด้วยวิธีที่คาดไม่ถึงเช่นกัน ฉะนั้นกาตาร์ แอร์เวย์สจึงพยายามเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับผู้โดยสารที่ตกค้างอยู่ตามที่ต่างๆ จากภารกิจที่เราตั้งใจ ทำให้ค่า RPKs ของเรา มากกว่ายอดรวมของคู่แข่งอันดับถัดไปอีก 4 รายรวมกัน เป็นสถิติที่ไม่มีใครเทียบได้ในวงการการบินยุคใหม่
นายอัคบาร์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผมไม่แปลกใจว่าทำไมผู้โดยสารจึงให้ความเชื่อมั่นที่จะเดินทางกับเรามากกว่าสายการบินอื่นๆ เพราะขณะที่สายการบินอื่นระงับการให้บริการ เรายังคงยืนหยัดให้บริการเครือข่ายเส้นทางและตารางบินที่แข็งแกร่ง จำนวนเส้นทางที่เราให้บริการไม่เคยลดต่ำกว่า 30 จุดหมายปลายทาง และเรากำลังจะกลับมาให้บริการเส้นทางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆรวมกว่า 170 เที่ยวบินต่อสัปดาห์และบินสู่กว่า 40 จุดหมายปลายทาง ทั้งนี้ ก่อนจะสิ้นสุดตารางการบินฤดูร้อน เราวางแผนเปิดเส้นทางให้ได้จำนวนครึ่งหนึ่งของเส้นทางทั้งหมดที่เราเคยให้บริการ (ประมาณ 85 จุดหมายปลายทาง)
นายอัคบาร์กล่าวต่ออีกว่า การที่เรายืนหยัดให้บริการอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถปรับตัวให้เหมาะกับมาตรการของท่าอากาศยานทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว เราดำเนินการใช้มาตรการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ทันสมัยที่สุดทั้งภายในห้องโดยสารและท่าอากาศยานนานาชาติฮาหมัด (HIA) ซึ่งได้รับการโหวตให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง 6 ปีติดต่อกัน
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้โดยสารมีความไว้วางใจที่จะวางแผนการเดินทาง สายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส จึงเพิ่มทางเลือกมาตรการช่วยเหลือให้กับผู้โดยสาร โดยสามารถเปลี่ยนแปลงวันเดินทางได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งและเปลี่ยนแปลงจุดหมายปลายทางได้ภายในระยะทาง 5,000 ไมล์จากจุดหมายปลายทางเดิม ซึ่งจะไม่มีการเก็บค่าส่วนต่างราคาบัตรโดยสารสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 แต่หากเดินทางหลังจากนั้นจะต้องชำระค่าธรรมเนียมต่างๆตามปกติ บัตรโดยสารที่ระบุวันเดินทางภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 สามารถขยายอายุตั๋วเป็น 2 ปีนับจากวันที่ออกตั๋ว ตรวจสอบเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ที่ www.qatarairways.com/RelyOnUs
ผู้โดยสารชั้นธุรกิจที่เดินทางในที่นั่งแบบ Qsuite จะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นด้วยผนังกั้นและประตูเลื่อนปิดมิดชิด อีกทั้งยังสามารถกดเลือกปุ่ม Do Not Disturb (DND) ที่อยู่บริเวณแผงควบคุมข้างที่นั่ง หากต้องการลดการมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงาน ที่นั่งแบบ Qsuite มีให้บริการบนเที่ยวบินสู่กว่า 30 จุดหมายปลายทาง ได้แก่ ลอนดอน ซิดนีย์ สิงคโปร์ และดัลลาส-ฟอร์ตเวิร์ธ และอื่นๆที่จะทยอยเพิ่มเข้ามาในอนาคต
กาตาร์ แอร์เวย์ส เพิ่มมาตรการความปลอดภัยและสุขอนามัยบนเครื่องบินสำหรับผู้โดยสารและพนักงานบริการ ให้พนักงานสวมใส่ชุด PPE (Personal Protective Equipment) และปรับขั้นตอนการบริการเพื่อลดการสัมผัสระหว่างผู้โดยสารและพนักงานระหว่างเที่ยวบิน สายการบินฯขอความร่วมมือผู้โดยสารสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะเดินทาง โดยแนะนำให้นำอุปกรณ์มาเองเพื่อความสะดวกสบาย
ท่าอากาศยาน HIA ได้รับรางวัลสนามบินที่ดีที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง (Best Airport in the Middle East) 6 ปีติดต่อกัน และรางวัลการบริการของพนักงานดีที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง (Best Staff Service in the Middle East) 5 ปีติดต่อกัน รวมถึงยังได้รับรางวัลอันดับที่ 3 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก (Third Best Airport in the World) จากสถาบันสกายแทรกซ์ World Airport Awards ประจำปี 2563 ผ่านการคัดเลือกจากสนามบินกว่า 550 แห่งทั่วโลก โดยไต่ลำดับขึ้นมาเรื่อยๆตั้งแต่เริ่มให้บริการเมื่อปี 2557 ขึ้นมาถึงอันดับที่ 4 ในปี 2562 สู่อันดับ 3 ในปี 2563