หัวใจเจ้าตัวเล็กต้องระวัง COVID-19 กับคาวาซากิ

จันทร์ ๑๕ มิถุนายน ๒๐๒๐ ๑๐:๕๖
การระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วงแรก พบว่าหากมีเด็กติดเชื้อจะไม่ได้รับผลกระทบหรือมีอาการข้างเคียงค่อนข้างน้อย แต่ปรากฎว่าได้มีการค้นพบความเชื่อมโยงกับโรคที่มีอาการคล้ายโรคคาวาซากิ ที่ส่งผลให้เด็กเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ฉะนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรเฝ้าระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากพบอาการใกล้เคียงที่น่าสงสัยควรพาไปพบแพทย์ทันที

นพ.อภิชัย คงพัฒนะโยธิน กุมารแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า เด็กที่ติดเชื้อ COVID-19 มักไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ประมาณกลางเดือนเมษายน 2563 (หลังมีการระบาดอย่างหนักในยุโรปประมาณ 1 เดือน) กุมารแพทย์ในประเทศอังกฤษพบว่ามีเด็กเกิดอาการป่วยที่ไม่สามารถอธิบายได้ เช่น อาการไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดท้อง และอาเจียน บางรายมีผื่นและอาการช็อก ซึ่งคล้ายกับ Toxic Shock Syndrome และบางรายมีผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งเป็นอาการที่ครบข้อบ่งชี้ของการวินิจฉัยในโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยบางรายมีการโป่งพองของเส้นเลือดโคโรนารี (Coronary Artery) เหมือนกับเด็กที่ป่วยด้วยโรคคาวาซากิ โดยพบว่าผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แสดงว่าเคยมีการติดเชื้อ COVID-19มาก่อน

ทั้งนี้ โรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) ถูกค้นพบครั้งแรกโดย Dr.Tomisaku Kawasaki กุมารแพทย์ชาวญี่ปุ่น สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มักพบในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยมีลักษณะอาการไข้มากกว่า 4 - 5 วัน เกิดผื่น ตาแดง ปากและหรือลิ้นแดง (Strawberry Tongue) มือเท้าบวมแดง ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต และผลแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคนี้คือ การอักเสบของเส้นเลือดหัวใจ (Coronary Artery) โดยในบางรายอาจเกิดการโป่งพองของเส้นเลือดหัวใจ ( Coronary Artery Aneurysm) ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและการตายของกล้ามเนื้อหัวใจเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction) ได้

ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับอาการของโรคที่เกิดขึ้นดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 โดยให้ชื่อว่า Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated with COVID-19หรือ MIS-C ที่ส่งผลทำให้เกิดการอักเสบในหลายอวัยวะ อาการของเด็กที่ป่วยมีความคล้ายคลึงกับเด็กที่เป็นโรคคาวาซากิ เช่น ไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ต่อมน้ำเหลืองโต ส่วนอาการช็อกมีรายงานในผู้ป่วยบางราย แต่ระหว่าง MIS-C และ โรคคาวาซากิ มีลักษณะที่แตกต่างกันหลายประการ เช่น อายุของเด็กที่ป่วยเป็น MIS-C มักเป็นในเด็กโต ต่างจากโรคคาวาซากิมักเกิดในเด็กเล็กกว่า มีอาการที่เกี่ยวกับทางระบบทางเดินอาหารและอาการช็อกใน MIS-C มากกว่าในโรคคาวาซากิ นอกจากนี้ MIS-C ยังเป็นอุบัติการณ์ที่พบได้น้อยกับในเด็กแถบเอเชียตะวันออกซึ่งเป็นเชื้อชาติที่พบอุบัติการณ์ของโรคคาวาซากิที่สูงที่สุด

การรักษาผู้ป่วย MIS-C ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนเหมือนโรคคาวาซากิ เนื่องจาก MIS-C เป็นโรคที่พบใหม่ ซึ่งอาจทำให้มีอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจและระบบไหลเวียนของโลหิต ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายที่จะเป็นโรคนี้จึงควรไปพบแพทย์ ซึ่งจะพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป ผู้ป่วยที่แพทย์ลงความเห็นว่าเป็น MIS-C ควรได้รับการรักษาเพื่อติดตามเฝ้าระวังในโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคคาวาซากิมักได้รับการรักษาตามแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐานของโรคนี้ ส่วนในผู้ป่วยอื่นๆ มักเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) และ/หรือให้ยาในกลุ่มที่ใช้ยับยั้งภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีการทำงานมากเกินกว่าปกติ

ทั้งนี้ MIS-C และ คาวาซากิ เกิดจากการมีภาวะภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกติ (Autoimmune Process) ซึ่งแสดงอาการคล้ายกัน ส่วนการติดเชื้อ COVID-19 สามารถทำให้เกิด Kawasaki Disease หรือไม่ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ดังนั้น หากพบว่าเด็กมีอาการคล้ายคลึงกับ MIS-C หรือโรคคาวาซากิ แม้จะไม่มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ -COVID-19 ผู้ปกครองควรพาไปพบแพทย์ทันที เพราะการรักษาโดยเร็วจะช่วยเพิ่มโอกาสหายและรอดชีวิตได้ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกัน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อความปลอดภัยและห่างไกลจาก COVID-19

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version