ผลผลิตรวมทั้ง 4 สินค้า คาดว่าจะมีประมาณ 844,003 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวน 796,751 ตัน (เพิ่มขึ้น 47,252 ตัน หรือ ร้อยละ 5.93) สำหรับการกระจายผลผลิตออกสู่ตลาด ผลผลิตของทุเรียน มังคุด และเงาะ จะออกมากในเดือนสิงหาคม และลองกองจะออกมากในเดือนกันยายน โดยผลผลิตรวมของทุเรียนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.03 ส่วนไม้ผลชนิดอื่น ๆ มีผลผลิตลดลง โดยเงาะ ลดลงร้อยละ 29.52 ลองกอง ลดลงร้อยละ 27.99 และมังคุด ลดลงร้อยละ 10.30 ทั้งนี้ ผลผลิตต่อไร่ของทุเรียนคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดีจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาดี มีการเตรียมแหล่งน้ำสำรองเพื่อใช้ในการดูแลต้นทุเรียน ส่วนมังคุด เงาะ และลองกอง ผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลงเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง เกษตรกรเกรงว่าน้ำจะไม่เพียงพอต่อการใช้ และจำเป็นต้องเก็บน้ำไว้สำหรับดูแลต้นทุเรียนซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่า
สำหรับลำไยของแหล่งผลิตหลัก 8 จังหวัดภาคเหนือ คณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ มีมติเห็นชอบผลพยากรณ์ข้อมูลลำไย ปี 2563 ครั้งที่ 3 (ข้อมูล ณ 2 มิถุนายน 2563) คาดการณ์เนื้อที่ให้ผล 854,615 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวน 849,710 ไร่ (เพิ่มขึ้น 4,905 ไร่ หรือร้อยละ 0.58 ของเนื้อที่ให้ผล 8 จังหวัดภาคเหนือ) แบ่งเป็นเนื้อที่ให้ผลในฤดูช่วงเดือนมิถุนายน ถึง เดือนกันยายน 637,588 ไร่ (คิดเป็นร้อยละ 74.61) และเนื้อที่ให้ผลนอกฤดู 217,027 ไร่ (คิดเป็นร้อยละ 25.39) และคาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดรวม 635,394 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่ให้ผลผลิต 620,379 ตัน (เพิ่มขึ้น 15,015 ตัน หรือร้อยละ 2.42) แบ่งเป็นผลผลิตในฤดู 386,065 ตัน (ร้อยละ 60.76) และผลผลิตนอกฤดู 249,329 ตัน (ร้อยละ 39.24) โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคม คิดเป็นร้อยละ 35.41 ของผลผลิตทั้งปี ด้านผลผลิตต่อไร่ของลำไย เพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศเหมาะสม โดยในช่วงที่ลำไยติดดอก มีความหนาวเย็นพอเหมาะ ส่งผลให้ลำไยในปีนี้ออกดอกและติดผลมากกว่าปีที่แล้ว ทั้งนี้ สศก. จะได้ติดตามสถานการณ์การผลิตและปริมาณการผลิตไม้ผล ภายใต้คณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับกระทรวง กรม และจังหวัดได้นำไปใช้ประโยชน์ในการเตรียมมาตรการนโยบายต่อไป