นายแพทย์ธราพงษ์ กัปโก นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า สถานการณ์ภาพรวมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก(ข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2563 เวลา 17.00 น.) มีผู้ป่วยติดเชื้อรวม 7,860,752 คน อาการรุนแรง 54,082 คน รักษาหายแล้ว 4,035,791 คน เสียชีวิตรวม 432,200 คน สถานการณ์ภาพรวมในประเทศไทย ผู้ป่วยรายใหม่ 1 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,135 คน หายป่วยแล้ว 2,987 คน เสียชีวิต 58 คน ประวัติเสี่ยง ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantine จากสหรัฐอเมริกา 1 ราย จำนวนผู้ป่วยยืนยันจำแนกตามพื้นที่รักษา กรุงเทพมหานครและนนทบุรี 1,747 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคกลาง 438 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย และภาคใต้ 744 ราย
สำหรับสถานการณ์ COVID-19 ในพื้นที่จังหวัดนครพนม (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2563 เวลา 09.00 น.) ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 “COVID-19" รายใหม่ 0 ราย ยอดสะสม 2 ราย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient under investigation: PUI) รายใหม่ 0 ราย สะสม 150 ราย คงเหลือติดตามต่อเนื่อง 12 ราย (รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 0 ราย) ข้อมูลผู้กักกันในสถานที่ที่จังหวัดจัดให้ (Local Quarantine) รายใหม่ 0 ราย ยอดสะสม 99 ราย คงเหลือติดตาม 12 ราย วันสิ้นสุดการติดตามวันที่ 26 มิถุนายน 2563
การติดตามผู้เดินทางกลับจากจังหวัดเสี่ยง (Home Quarantine) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม ครั้งที่ 18/2563 จำนวนผู้เดินทางเดือนมิถุนายน 2563 (Self-Isolation : การกักตัวโดยสมัครใจ โดยการแยกตัวอยู่ห่างจากผู้อื่น เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ) ยอดสะสม 304 ราย เฝ้าระวัง 304 ราย (ข้อมูลจากแอฟพลิเคชัน NPM-COVID19 ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2563 เวลา 09.00 น.)
ในส่วนของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๐) และมาตรการผ่อนคลายระยะที่ ๔ นายธราพงษ์ กัปโก นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ได้นำเสนอให้ที่ประชุมทราบว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปตั้งแต่วันที่ ๑ – 30 มิถุนายน ๒๕๖๓ นั้น โดยที่สมควรผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นช่วงที่ ๔ ต่อเนื่องจากการผ่อนคลายที่ดำเนินมาก่อนแล้วเป็นลำดับ ทั้งนี้ ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การเว้นระยะห่างทางสังคม และการยอมรับระบบติดตามตัวผ่านแอปพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรี ได้ออกข้อกำหนดเป็นการทั่วไปและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑) การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน เพื่อเป็นมาตรการผ่อนคลายและบรรเทาผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน จึงให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักรเฉพาะเหตุอันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่เวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา ของวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕'๖๓ ข้อ
๒) การผ่อนผันการใช้อาอารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา ๒๕๖๓ จึงผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน หรือการฝึกอบรมของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเพิ่มเติมจากที่ได้กำหนดไว้แล้วตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๙) ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ โดยให้โรงเรียนในระบบประเภทนานาชาติ สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติโรงเรียนนอกระบบประเภทกวดวิชาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบคน สามารถใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนหรือการฝึกอบรมได้ โดยผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาต้องดำเนินการจัดรูปแบบการเรียนการสอน สถานที่ รวมทั้งบุคลากรและเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมสอดคล้องกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อ การติดโรค การแพร่กระจายเชื้อ และความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่วนการเปิดเรียนและรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณีกำหนด โดยปฏิบัติตามความในวรรคก่อนด้วยโดยอนุโลม
ข้อ ๓) การผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและขับเคลื่อนกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติมจากที่ได้กำหนดไว้แล้วตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๖) ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ข้อกำหนด (ฉบับที่ ๗) ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๓ และข้อกำหนด (ฉบับที่ ๙) ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามคำแนะนำของทางราชการ ให้สถานที่หรือการดำเนินกิจกรรมที่เคยมีข้อกำหนดหรือคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ๒๕๕๘ และตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๕) ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ สามารถเปิดดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติมได้ทั่วราชอาณาจักรตามความสมัครใจและความพร้อม ดังต่อไปนี้
(๑) กิจกรรมด้านศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต ก) การจัดการประชุม การอบรม การสัมมนา การจัดนิทรรศการ การจัดแสดงสินค้า การจัดเลี้ยง งานพิธี การแสดง นาฏศิลป์ ดนตรี คอนเสิร์ต หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในโรงแรม โรงมหรสพ ห้องประชุม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงภาพยนตร์ หรือในสถานที่อื่นๆ ให้สามารถดำเนินการได้ ข) การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในภัตตาคาร สวนอาหาร โรงแรม ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไป หรือในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและได้ผ่อนคลาย ให้เปิดดำเนินการอยู่ก่อนแล้วให้สามารถทำได้ภายในกำหนดเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในส่วนของสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ ค) สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กพิเศษ สถานดูแลผู้สูอายุ สถานที่บริการดูแล สถานที่พำนักอาศัย หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่จัดสวัสดิการให้แก่เด็กหรือผู้สูงอายุ สามารถเปิดดำเนินการให้บริการแบบรายวันได้ ทั้งนี้ การเดินทางไปกลับสถานที่ดังกล่าวถือเป็นเหตุยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรการอันพึงปฏิบัติของกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค ง) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม จ) การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ ให้ดำเนินการได้โดยมีจำนวนผู้แสดง ผู้ร่วมรายการและคณะทำงานถ่ายทำรวมกันไม่เกินคราวละหนึ่งร้อยห้าสิบคนและมีผู้ชมไม่เกินห้าสิบคน(๒) กิจกรรมด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ ก) การอบตัว อบสมุนไพร การอบไอน้ำแบบรวมหรือการนวดบริเวณใบหน้าในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปาหรือสถานประกอบการนวดแผนไทย ให้ดำเนินการได้ ยกเว้นในส่วนของสถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด ยังไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ ข) การออกกำลังกายแบบกลุ่มในสวนสาธารณะ ลานกิจกรรม พื้นที่กิจกรรมสาธารณะหรือลานกีฬากลางแจ้ง ให้ดำเนินการได้ ค) สวนน้ำ สนามเด็กเล่น สวนสนุก ยกวนการใช้เครื่องเล่นในลักษณะที่เป็นการติดตั้งชั่วคราวหรือเครื่องเล่นที่มีพื้นผิวสัมผัสมากซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรคในเด็ก เช่น บ้านบอล บ้านลม ง) สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา หรือเพื่อการเรียนการสอนในทุกประเภทกีฬา ให้เปิดดำเนินการได้ ยกเว้นสนามชนโด สนามชนไก่ สนามกัดปลา หรือสนามการแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันยังไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการสถานที่ที่ได้รับการผ่อนคลายสามารถจัดให้มีการแข่งขันและถ่ายทอดโทรทัศน์ การแข่งขันกีฬาหรือการถ่ายทอดผ่านสื่ออื่น ๆ ได้ แต่ต้องไม่มีผู้ชมอยู่ในสนามแข่งขันและผู้จัดการแข่งขันต้องดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่ทางราชการกำหนดด้วย จ) ตู้เกม เครื่องเล่นหยอดเหรียญที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้
ข้อ ๔ การขนส่งสาธารณะข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับการเดินทางของประชาชนภายหลังมาตรการผ่อนคลายการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกำกับดูแลการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท(รถโดยสารประจำทาง รถปรับอากาศ รถตู้ รถไฟ เรือ เครื่องบิน) โดยผู้ประกอบการต้องจัดระบบและระเบียบต่างๆ รวมทั้งให้มีการจอดพักรถ การเว้นที่นั่ง และการจำกัดจำนวนผู้โดยสารในแต่ละเที่ยวให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
ข้อ ๕ การดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ในข้อ ๒ หรือข้อ ๓ มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งดำเนินการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ตามคำแนะนำ เงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือตามที่ทางราชการกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าตรวจสอบการใช้อาคารสถานที่ตาม ข้อ ๒ และการดำเนินการของเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ตามข้อ ๓ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่างๆ ที่ทางราชการกำหนด หากพบการกระทำที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค พนักงานเจ้าหน้าที่อาจให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม และมีอำนาจกำหนดช่วงระยะเวลาเพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่ของโรค รวมทั้งเสนอให้ผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ มีคำสั่งปิดสถานที่ในพื้นที่รับผิดชอบไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราว เมื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการที่ทางราชการกำหนดและจัดระเบียบและระบบต่างๆ แล้ว ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี มีอำนาจสั่งให้เปิดดำเนินการในสถานที่ดังกล่าวได้