รมว.ดศ. กสทช. ดึงศักยภาพ ทีโอที ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม จับมือ กทม. นำร่อง นำสายสื่อสารลงใต้ดินกลางกรุง

อังคาร ๑๖ มิถุนายน ๒๐๒๐ ๑๔:๐๕
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานพัฒนาองค์กร และรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บมจ.ทีโอที พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง ดีอีเอส กสทช. กทม. และ ทีโอที ร่วมกันแถลงข่าวการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเส้นทางที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ไม่มีการรื้อถอนเสาไฟฟ้า และไม่มีสภาพบังคับ ตลอดแนวถนนอโศกมนตรี ตั้งแต่ถนนสุขุมวิทถึงถนนเพชรบุรี

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอส มีนโยบายที่จะจัดระเบียบความเรียบร้อยของสายสื่อสารที่พาดอยู่บนเสาไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและทัศนียภาพ ภูมิทัศน์ที่สวยงามของกรุงเทพมหานคร และที่สำคัญเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สัญจรในบริเวณดังกล่าว โดยการดำเนินโครงการนี้ กระทรวงดีอีเอส ได้หารือร่วมกับ กสทช. เพื่อดำเนินโครงการ ให้แล้วเสร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ได้มีการประสานงานกับกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด ที่จะร่วมกันดำเนินการให้สำเร็จ ซึ่งทุกฝ่ายให้พ้องร่วมกันว่า บมจ.ทีโอที ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดของกระทรวงดีอีเอส มีประสบการณ์และมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม และดิจิทัล (Telecom & Digital Infrastructure) ไม่ว่าจะเป็นเสาโทรคมนาคม สายสื่อสารโทรคมนาคม และท่อร้อยสายใต้ดิน ซึ่ง ทีโอที สามารถนำศักยภาพที่มีอยู่นี้ มาตอบสนองการดำเนินโครงการนี้ได้ทันที เนื่องจาก

ทีโอที มีการวางท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในแนวถนนหลัก ครอบคลุมพื้นที่ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตร และยังสามารถให้ผู้ประกอบการด้านสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลทุกรายมาใช้ท่อร้อยสายใต้ดินของ ทีโอที ได้ทันที โดยไม่ต้องขุด เจาะ หรือก่อสร้างเปิดหน้างานเพิ่มเติมอีก และในอนาคตทาง กระทรวงดีอีเอส จะได้ขยายผลการดำเนินการในลักษณะนี้ในเส้นทางอื่นของกรุงเทพมหานคร ต่อไป

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่าการนำสายสื่อสารลงใต้ดินเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของ กสทช. ที่ต้องการให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกราย นำสายสื่อสารลงใต้ดินทั้งหมด เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้ กสทช. ได้ มีการหารือร่วมกันกับกระทรวงดีอีเอส อย่างใกล้ชิด มาโดยตลอด เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่ง บมจ.ทีโอที มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมอยู่แล้ว ก็ถือเป็น โครงการที่ดีและมีประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมโดยรวม

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สอดคล้องกับนโยบายการจัดระเบียบความเรียบร้อยด้านภูมิทัศน์ ของ กทม. ซึ่งการดำเนินโครงการนี้ ร่วมกับ กระทรวงดีอีเอส กสทช. นั้น กรุงเทพมหานคร พร้อมที่จะร่วมสนับสนุนโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในกรุงเทพมหานครและพร้อมที่จะร่วมเป็นพันธมิตรในการดำเนินโครงการ ในลักษณะนี้กับทาง บมจ.ทีโอที ต่อไปในอนาคต

นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานพัฒนาองค์กร และรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บมจ.ทีโอที กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ในพื้นที่แนวถนนอโศกมนตรีตั้งแต่แนวถนนสุขุมวิทถึงถนนเพชรบุรี โดยที่ไม่มีการรื้อถอนเสาไฟฟ้านั้น ทีโอที ต้องขอขอบคุณ กระทรวงดีอีเอส กสทช. และกรุงเทพมหานคร ที่ได้มอบความไว้วางใจให้กับ ทีโอที ในการดำเนินโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในครั้งนี้ ทีโอที มีความพร้อม ที่จะดำเนินการได้ทันที เนื่องจาก ทีโอที มีท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ตลอดแนวถนนอโศกมนตรีอยู่เดิมแล้ว โดยมีการวางท่อร้อยสายใต้ดินทั้งสองฝั่งถนนฝั่งละ 6 ท่อ ขนาด 3 นิ้ว เชื่อมโยงกับ แนวท่อร้อยหลักบนผิวจราจร ซึ่งมีท่ออยู่ 12 ท่อ การนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ทีโอที พร้อมที่จะให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลทั้งภาครัฐและเอกชนได้ทันที ด้วยศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและดิจิทัลของ ทีโอที โดยเฉพาะบริการท่อร้อยสายใต้ดินที่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศรวมระยะทางกว่า 3,900 กิโลเมตรจำนวน 11,700 duct-km.และ 35,100 subduct-km ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ทีโอที มีแผนที่จะนำสายสื่อสารของ ทีโอทีในพื้นที่กรุงเทพฯ ลงใต้ดิน ในระยะแรก จำนวน12 เส้นทาง ซึ่ง ทีโอที มีท่อร้อยสายใต้ดินอยู่แล้ว อาทิ ถนนรัชดาภิเษก ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถนนพระราม 4 ถนนพหลโยธิน ถนนอิสรภาพ และ ถนนจรัญสนิทวงศ์ รวมระยะทาง 48.7 กิโลเมตร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม