ด้าน นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการดังกล่าว กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ต้นมะขามทั้งบริเวณสวนหย่อมตรงข้ามประตูวิเศษไชยศรีและในสนามหลวง จำนวน 44 ต้น ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดถนนหน้าพระลาน จึงมีความจำเป็น ต้องขุดล้อมออกจากพื้นที่ เพื่อนำไปอนุบาลให้มีรากและทรงพุ่มที่สมบูรณ์แข็งแรง ก่อนนำกลับมาปลูกบริเวณเดิมเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถปลูกได้ แต่หากไม่สามารถปลูกในพื้นที่เดิมได้ทั้งหมด จะนำไปปลูกทดแทนหลุมที่ว่างในพื้นที่สนามหลวงและบริเวณสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร สำหรับการล้อมย้ายต้นมะขามได้ดำเนินการโดยผู้ที่มีความชำนาญ ในการขุดล้อม ขนย้าย และอนุบาลต้นไม้ใหญ่ และมีเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อมร่วมดูแล กำกับ และติดตามระหว่างนำไปอนุบาลที่จังหวัดสระบุรี จนกว่าจะนำกลับมาปลูกอีกครั้งเมื่อการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแล้วเสร็จ ซึ่งการขุดล้อมย้ายต้นมะขาม ได้ดำเนินการตามหลักวิชาการ มีการตัดแต่งทรงพุ่ม เพื่อลดการคายน้ำและควบคุมทรงพุ่มไม่ให้ใหญ่มากจนหักฉีกขาด หรือเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนย้าย ทำการล้อมเตือนก่อนโดยยังคงรักษารากใหญ่ไว้ประมาณ 3-4 ราก เพื่อดูดน้ำ ธาตุอาหารในดิน และห่อตุ้มให้มีขนาดเหมาะสมตามขนาดของต้นมะขาม ทั้งนี้ ได้กำชับผู้รับจ้างให้ดูแลบำรุงรักษาต้นมะขามไม่ให้เสียหาย และให้คงสภาพเดิมมากที่สุด
ด้าน นายสุรเดช อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม. กล่าวว่า การล้อมย้ายต้นไม้บริเวณแนวก่อสร้างโครงการอุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลานและถนนมหาราช มีต้นไม้ที่ล้อมย้าย ประกอบด้วย ต้นลีลาวดี 29 ต้น และต้นปีป 5 ต้น ทั้งนี้ ต้นลีลาวดีเป็นต้นไม้ที่สามารถล้อมย้ายและนำไปปลูกโดยไม่ต้องอนุบาล จะนำไปปลูกที่สวนสมเด็จพระปกเกล้าบริเวณเชิงสะพานพระปกเกล้า ทั้ง 29 ต้น ปัจจุบันมีสภาพสมบูรณ์ สวยงาม ส่วนต้นปีป เป็นไม้มีแก่น ต้องใช้เวลาในการอนุบาล ซึ่งหลังการล้อมย้ายได้นำไปพักไว้ในพื้นที่กองทัพเรือ