นายสุชาติ วิริยะอาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานของบริษัทฯ ให้สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจและสอดคล้องกับต้นทุน ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนในองค์กรและการผลิตพลังงานด้วยเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง เช่น โครงการก๊าซชีวภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
ซีพีเอฟ ในฐานะบริษัทเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรชั้นนำ ประกอบด้วย ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์และแปรรูปเนื้อสัตว์ และธุรกิจอาหาร ที่ดำเนินการตามมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีระดับโลกควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานในฟาร์มปศุสัตว์ โรงงานแปรรูปอาหารและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ 7 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทนจากก๊าชชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันฟาร์มสุกรของบริษัทในประเทศไทย 92% มีการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในฟาร์มและสถานประกอบการ โดยโรงงานอาหารแปรรูปจากเนื้อไก่นำก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสียไป ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาและก๊าซหุงต้มในหม้อไอน้ำ (Steam Boiler)
ในปี 2562 ธุรกิจสุกร ธุรกิจแปรรูปอาหาร และคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ มีการผลิตก๊าซชีวภาพได้รวม 48.61 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 33,268 ตันคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีก 236 ล้านบาท ประกอบกับความพยายามในการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนตลอดกระบวนการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิตลดลง 8% เทียบกับปี 2561 และมีการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพรวม 1,017,426 กิกะจูล
“ความสำเร็จของการผลิตก๊าซชีวภาพในประเทศไทย ยังได้ขยายผลไปใช้ในกิจการในต่างประเทศของบริษัท เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซียและฟิลิปปินส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน” นายสุชาติ กล่าว
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า การบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายปี 2563 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 (ปล่อยโดยตรงจากการใช้เชื้อเพลิง) และขอบเขตที่ 2 (การซื้อพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก) 15% เทียบกับปีฐาน 2558
นอกจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากฟาร์มสุกรจะถูกนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มแล้ว น้ำจากบ่อก๊าซฯจะถูกบำบัดจนได้ค่ามาตรฐานแล้วปล่อยเป็น “น้ำปุ๋ย” ให้กับชุมชนรอบๆฟาร์ม เพื่อใช้ในการเกษตรสำหรับการปลูกข้าวโพดหญ้าเนเปีย อ้อย เป็นต้น ช่วยแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนในช่วงฤดูร้อน
“ซีพีเอฟ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ภายใต้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน มาเป็นแนวทางสำคัญในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ อากาศตลอดห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเป็นในเป้าหมายสู่การเพิ่มสัดส่วนรายได้สีเขียว (Green Revenue) สู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทด้วย” นายวุฒิชัย กล่าว