เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ปิดสถานศึกษาทีมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สอศ. ได้มีการพัฒนาผู้เรียนเพื่อไม่ให้ขาดช่วงการเรียนรู้ โดยเน้นทักษะที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ทักษะภาษาอังกฤษ โดยแอพพลิเคชั่น EchoVE เป็นการพัฒนาการพูด ฟัง การอ่านออกเสียงศัพท์ภาษาอังกฤษจากภาพยนตร์ ทักษะที่สอง คือภาษจีน โดยเข้าเรียนหลักสูตรภาษาจีนออนไลน์ ของ Tang Chinese Education & Technology Ltd. จำนวน 100,000 บัญชี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นระยะเวลา 3 เดือน และสอบวัดความรู้โดยใช้แอพพลิเคชั่น Tang Class และทักษะที่สาม คือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) โดยพัฒนาผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับวุฒิบัตรรับรอง
สำหรับการเตรียมความพร้อมในด้านอื่นๆ เช่นการพัฒนาครู ซึ่ง สอศ. ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว เช่น ด้านการใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาครูอาชีวศึกษา ให้สร้างบทเรียนออนไลน์ สื่อการสอน เทคนิควิธีสอน และการประเมินผลที่เหมาะสม โดยกำหนดบาทบาทครู เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม Excellent Teacher, Mentor Teacher และ Network Teacher ซึ่งมีเป้าหมายรวม จำนวน 10,000 คน ด้านการพัฒนาชุดการเรียนการสอนออนไลน์ (Online Course) เพื่อใช้กับลักษณะ DLTV โดยการพัฒนารายวิชาทั้งหมดจากหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระยะแรกนี้ดำเนินการในหมวด สมรรถนะแกนกลาง และรายวิชาหมวดสมรรถนะวิชาชีพ ในสาขาที่มีผู้เรียนจำนวนมาก เป้าหมายรวม 200 รายวิชา ซึ่ง สอศ. ได้แจ้งสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่งสมัครเข้าร่วมพัฒนาชุดการเรียนการสอนออนไลน์ หรือ VEC Online Course เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย สถานศึกษาสามารถนำสื่อและเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการเรียนการสอน และผู้เรียนสามารถเข้าศึกษาและทบทวนบทเรียนได้สะดวก โดยมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ช่วงโควิด-19 พร้อมกันนี้ในส่วนของฝ่ายบริหาร ของ สอศ. ก็ได้มอบหมายให้แบ่งโซนพื้นที่ดำเนินการกำกับ ติดตามสถานศึกษา เพื่อทราบถึงผลการดำเนินการงานต่างๆ ปัญหาอุปสรรค เพื่อนำมาทบทวน ปรับปรุงแนวทางและมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้รองรับกับแนวปฏิบัติ สถานการณ์ และบริบทพื้นที่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยแก่ผู้เรียน ครู และบุคลากรทุกคนให้ห่างไกลจากโรคโควิด-19