รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการภารกิจอนาคตเชิงยุทธศาสตร์และริเริ่มงานวิจัยและนวัตกรรมสำคัญ สกสว. กล่าวว่า “อนาคตศึกษา” เป็นประเด็นวิจัยเกี่ยวกับอนาคตและเป็นหัวข้อที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย งานวิจัยนี้เป็นส่วนสำคัญในการประมวลและจัดการองค์ความรู้ด้านอนาคตศึกษาอย่างเป็นระบบ และเป็นส่วนสำคัญที่จะใช้สนับสนุนการพัฒนาเครื่องมือและกระบวนการศึกษาการจัดการวางแผนอนาคตในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคน ตลอดจนสามารถนำไปใช้สนับสนุนการวางแผนยุทธศาสตร์และนโยบายสาธารณะในอนาคตต่อไป งานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถของ “ทุนมนุษย์” (Human Capital) เนื่องจากเราจะมีเครื่องมือในการเรียนรู้อนาคตเพื่อมาออกแบบการทำงานในปัจจุบันได้ เหมือนอย่างที่ประเทศชั้นนำอย่างสิงคโปร์ ฟินแลนด์ ซึ่งใช้เครื่องมือนี้ออกแบบการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ด้าน รศ. ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ นักวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าว เปิดเผยข้อมูลว่า การเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันบ่อยครั้งเกิดขึ้นในลักษณะที่ ไม่คาดคิด บางเหตุการณ์แม้เริ่มต้นในวงแคบ แต่ภายในวลาเพียงชั่วพริบตา กลับปะทุกลายเป็นวิกฤตการณ์รุนแรงระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมืองและชีวิตผู้คนจำนวนมาก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือโรคระบาดจากโควิด 19 การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงยิ่งสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งสำหรับการตัดสินใจระดับบุคคล ครัวเรือน ไปจนถึงองค์กรและสังคมโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ประเทศ หรือระดับโลก โครงการวิจัย “ปริทัศน์สถานภาพความรู้ด้านอนาคตศึกษา” เป็นงานวิจัยที่ถือเป็นการทบทวนวรรณกรรมศาสตร์แห่งอนาคตในหลายมิติของการเรียนรู้ออกมา เพื่อให้ได้เข้าใจว่าบทเรียนจากประวัติศาสตร์ รวมถึงความสำเร็จของประเทศที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีการออกแบบการทำงานอย่างไร เราควรทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนั้นการสร้างองค์ความรู้และเครื่องมือในการทำความเข้าใจ จัดการกับอนาคต จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคน ทุกองค์กรและทุกสังคมที่ต้องการวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ที่ผ่านมางานวิจัยและงานเขียนในวงการอนาคตศึกษาได้พัฒนามาระยะหนึ่งแล้วในระดับโลก สำหรับในประเทศไทยการวิเคราะห์แนวโน้มเพื่อพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงสำหรับการวางแผนนโยบายสาธารณะและยุทธศาสตร์ทางธุรกิจก็มีมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ส่วนหนังสือและตำราเกี่ยวกับอนาคตศึกษาและอนาคตศาสตร์พอมีอยู่บ้าง แต่ในภาพรวม การศึกษาอนาคตอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องยังมีอยู่ไม่มากนัก
ด้าน ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ (PPSI) กล่าวให้ข้อมูลว่า ตนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานวิจัย “คนไทย 4.0” ซึ่งคือการคาดการณ์หรือวางแผนอนาคต การออกแบบนวัตกรรมทางสังคม การใช้ฐานข้อมูล (Big Data) ในทรรศนะของตนมองว่า แผนหรือนโยบายระดับองค์กรของรัฐ หรือประเทศที่ผ่านมาถูกออกแบบโดยความคิดเห็นของคนส่วนน้อย ไม่ใช่อยู่บนพื้นฐานของ “ข้อมูล” หากเราปรับการทำงานด้านแผนและนโยบายให้เน้นการใช้ข้อมูลมากขึ้น จะทำให้หน่วยงานระดับนโยบาย ตลอดจนรัฐบาลได้แผนและแนวทางในการพัฒนาประเทศ ที่อาจมีความแม่นยำ ครอบคลุม มีศักยภาพมากขึ้น
ในส่วนของ ดร. นพ.สรภพ เกียรติพงษ์สาร ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะและประสบการณ์ว่า เมื่อครั้งตนได้ไปนั่งวงเสวนาการทำงานในมุมมองด้านอนาคต ก็ได้รับความรู้ บทเรียน การออกแบบอนาคตจากหลากหลายประเทศที่น่าสนใจ อาทิ สิงคโปร์ ฟินแลนด์ แคนาดา ฯลฯ ซึ่งแต่ละประเทศล้วนมีการออกแบบแผนนโยบายต่างๆเพื่อ “อนาคตที่ดี” ของประเทศที่แตกต่างกันในเป้าหมายที่ต่างกัน โดยกุญแจสำคัญของประเทศเหล่านี้คือเขาทำให้ “ผู้กำหนดหรือออกแบบนโยบาย” เล็งเห็นถึงปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ประเทศต้องมีแผนเตรียมการไว้เนิ่นๆ แม้วิกฤตหรือสิ่งนั้นยังไม่เกิดในอนาคตอันใกล้ สำหรับการออกแบบอนาคตของประเทศไทย ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเอาประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นต้นแบบ แต่ถ้าประเทศไทยมีกลไกหรือมีองค์กรทำงานที่ออกแบบงานด้านการคาดการณ์อนาคต (Foresight) ไว้ จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าและพร้อมรับความเสี่ยงในวิกฤตที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ปัจจุบันคณะนักวิจัย ได้จัดทำหนังสือ “อนาคตศึกษา” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และข้อมูลถึงศาสตร์ด้านอนาคต ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหลังสือ “อนาคตศึกษา” ฉบับ E - Book ได้ฟรีที่ https://www.tsri.or.th/th/knowledge/publication