นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา จุดผ่อนผันในการตรวจสินค้าเกษตรก่อนการส่งออกจะดำเนินการในบริเวณ 2 จุด คือ บริเวณหน้าอาคารขนถ่ายสินค้า WFSPG และบริเวณหน้าอาคารขนถ่ายสินค้า บทก. แต่พบข้อจำกัดในการดำเนินการ ได้แก่ พื้นที่ในการให้บริการไม่เพียงพอ จำนวนเจ้าหน้าที่ในการให้บริการ เนื่องจากมีจุดที่ต้องรับผิดชอบถึง 4 จุด ผู้นำเข้าส่งออกเสียเวลาไปกับการติดต่อเจ้าหน้าที่ในจุดต่าง ๆ ไม่มีห้องปฏิบัติการในการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ สินค้าติดขัดกรณีที่ต้องรอสินค้าที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบหากสินค้าไม่ผ่านการตรวจสอบต้องทำพิธีการศุลกากรเพื่อขอนำกลับ จึงได้มีการประสานและหารือกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเพื่อผลักดันการสร้างมาตรฐานและกระบวนการส่งออกสินค้าเกษตรแบบเพิ่มมูลค่า โดยรวมจุดออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และจุดตรวจสินค้าเกษตรก่อนการส่งออกในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ซึ่งง่ายต่อการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ เกิดความคล่องตัวของการดำเนินงาน และประชาชนได้รับความรวดเร็วในการให้บริการ พร้อมนี้มีความเป็นไปได้ในการจัดตั้งช่องทางพิเศษ (Perishable Premium Lane) สำหรับสินค้าเน่าเสียง่าย ที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ เวลา มีการดูแล ติดตาม และการบริหารจัดการขนส่งที่เข้มงวดเป็นพิเศษ โดยช่องทาง PPL นี้ จะมีพื้นที่สำหรับรับสินค้าแยกออกจากอาคารขนถ่ายสินค้า พร้อมเจ้าหน้าที่ตรวจและเตรียมสินค้าเกษตร ช่วยลดเวลาในการจัดส่งสินค้า ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการจัดการสินค้าเน่าเสียง่ายในภาพรวมได้เป็นอย่างดี
“หากด่านการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศมีจุดการดำเนินงานและการให้บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) จะช่วยยกระดับมาตรฐานการการตรวจสอบสินค้าเกษตรของไทย ให้ประเทศคู่ค้าต่าง ๆ มั่นใจว่าสินค้าเกษตรจากไทยปลอดภัย รวมทั้งส่งผลให้ประเทศไทยยังครองความเป็นผู้นำการส่งออกสินค้าเกษตรอีกด้วย” นายนราพัฒน์ กล่าว