กสิกรไทย ธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่เสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศด้วยบล็อกเชน

ศุกร์ ๑๙ มิถุนายน ๒๐๒๐ ๑๐:๔๔
กสิกรไทยออกหุ้นกู้ 17 ล้านยูโร อายุ 3 เดือน จับมือสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเสนอขายบนเทคโนโลยีบล็อกเชนสำเร็จเป็นธนาคารแห่งแรกในไทย ภายใต้โครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการเกี่ยวกับตลาดทุน หวังเป็นต้นแบบและมาตรฐานสำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในอนาคต

นายจงรัก รัตนเพียร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้ดำเนินการเสนอขายและออกหุ้นกู้สกุลเงินยูโรให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันในประเทศผ่านเทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) หรือบล็อกเชน (Blockchain) ภายใต้โครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการเกี่ยวกับตลาดทุน ซึ่งธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทยที่เสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศผ่านโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมธุรกรรมครั้งนี้ หุ้นกู้สกุลเงินยูโรที่ออกในครั้งนี้ เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และไม่มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ มูลค่าเสนอขายรวมทั้งสิ้น 17 ล้านยูโร แบ่งเป็น 17,000 หน่วย อายุหุ้นกู้ประมาณ 3 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0.52% ต่อปี และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่อันดับความน่าเชื่อถือระดับสูงสุด “F1+(tha)”

สำหรับการออกหุ้นกู้สกุลเงินยูโรมูลค่า 17 ล้านยูโรครั้งนี้ อยู่ภายใต้โครงการหุ้นกู้ธนาคารกสิกรไทย วงเงินไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้ธนาคารสามารถเสนอขายหุ้นกู้ภายใต้โครงการ Medium Term Note ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของธนาคารในการจัดหาช่องทางของแหล่งเงินทุนที่หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สามารถปรับใช้ได้ตามสภาวการณ์ที่เหมาะสมของตลาดและการดำเนินธุรกิจของธนาคาร

นอกจากนี้ การเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้มีความพิเศษกว่าการเสนอขายแบบปกติ เนื่องจากธนาคารได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมในตลาดทุนไทย ซึ่งได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในงานนายทะเบียนหลักทรัพย์ เพื่อยกระดับการพัฒนาตลาดทุนไทย โดยธนาคารร่วมกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก สำนักงาน ก.ล.ต.ให้นำร่องโครงการ Registrar Service Platform Phase 1 (RSP1) และบรรจุอยู่ในโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการเกี่ยวกับตลาดทุน ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในระยะที่ 1 โดยเทคโนโลยีดังกล่าวมีความปลอดภัยสูง มีความยืดหยุ่น สามารถรองรับการเสนอขายหุ้นกู้ได้หลายรูปแบบหลายสกุลเงิน

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ยินดีกับความสำเร็จของธนาคารกสิกรไทยที่เป็นธนาคารรายแรกที่ออกหุ้นกู้โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งหุ้นกู้สกุลเงินยูโรชุดนี้เสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบันชั้นนำในประเทศหลายแห่ง ที่แสดงความจำนงร่วมใช้งานระบบภายใต้โครงการ Registrar Service Platform Phase 1 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบงานในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยประยุกต์ใช้ Distributed Ledger Technology (DLT) หรือ Blockchain มาช่วยให้การจัดเก็บข้อมูลผู้ถือครองตราสารหนี้ที่ผู้ร่วมตลาดทุกรายใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลชุดเดียวกัน

โครงการนี้ประสบความสำเร็จได้จากความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องในตลาดตราสารหนี้ไทย อาทิ ผู้ออกตราสารหนี้ นายทะเบียน ผู้จัดการการจัดจำหน่าย ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และผู้รับฝากหลักทรัพย์ ซึ่งมุ่งหวังยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในตลาดแรกของตราสารหนี้ภาคเอกชนให้เป็น DLT Scripless Corporate Bond ซึ่งโครงการ RSP1 จะเป็นก้าวแรกของการกระโดดครั้งใหญ่ของตลาดตราสารหนี้ไทย และจากการจัดการออกและขายหุ้นกู้ของธนาคารกสิกรไทยด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนในครั้งนี้จะเป็นต้นแบบและมาตรฐานในการพัฒนาเพื่อใช้สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยต่อไปได้

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจและตลาดทุนในปัจจุบันจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่การเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินยูโร มูลค่า 17 ล้านยูโรของธนาคารกสิกรไทยในครั้งนี้ ยังได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนสถาบันชั้นนำในประเทศหลายแห่ง ทั้งจากกองทุนภายใต้การบริหารของ บลจ. และบริษัทประกันภัย ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่อธนาคารกสิกรไทยในฐานะสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในครั้งนี้ ยังสะท้อนให้เห็นว่า นอกเหนือจากความเชื่อมั่นของธนาคารเอง ผู้ลงทุนก็มีความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีบล็อกเชน ภายใต้โครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการให้บริการเกี่ยวกับตลาดทุนที่พัฒนาโดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเช่นเดียวกันและต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบตลาดทุนไปพร้อม ๆ กัน ในฐานะตัวกลางในการจัดจำหน่าย จึงเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งต่อผู้ออกหุ้นกู้โดยรวม และผู้ลงทุนในตลาด โดยการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ส่งผลให้ธนาคารมีประสบการณ์ตรงในฐานะผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งจะทำให้เมื่อต้องรับหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ธนาคารก็จะสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ออกตราสารหนี้รายอื่น ๆ ในตลาดได้อย่างมั่นใจ ในขณะเดียวกัน สำหรับผู้ลงทุนในหุ้นกู้ การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ จะทำให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขาย ตรวจสอบ และเข้าถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ดังนั้น ธนาคารเชื่อว่าการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญต่อการพัฒนาของตลาดทุนไทยในยุคดิจิทัล นายศีลวัต สันติวิสัฏฐ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารกสิกรไทยประสบผลสำเร็จในการพัฒนาบริการออกหนังสือค้ำประกัน (LG) บนเทคโนโลยีบล็อกเชนสำเร็จเป็นธนาคารแรกของโลก ถือเป็นการยกระดับของระบบงานภายในธนาคาร จนปัจจุบันเป็นหนึ่งในระบบมาตรฐาน

ของการออกหนังสือค้ำประกันของระบบธนาคารในประเทศไทย ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้มีส่วนร่วมและให้ความสำคัญในระบบนี้มาอย่างต่อเนื่อง และได้พัฒนาต่อยอดไปสู่บริการอื่น ๆ รวมทั้งกระบวนการจัดการและออกหุ้นกู้บนเทคโนโลยีบล็อกเชน เนื่องจากเห็นว่าเทคโนโลยีนี้มีประโยชน์อย่างมากต่อธนาคารและระบบโดยรวม ทั้งในมุมของฐานข้อมูล ความปลอดภัยของข้อมูล และการใช้ประโยชน์ข้อมูลของผู้ร่วมตลาด สามารถการลดต้นทุนการดำเนินงานอย่างมหาศาล ซึ่งการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการออกหุ้นกู้ถือเป็นการยกระดับประสิทธิภาพของระบบงานในหลายแง่มุม และสะดวกต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในการออกหุ้นกู้ ไม่ว่าจะเป็นผู้จองซื้อ ผู้ถือหุ้นกู้ ผู้ออกหุ้นกู้ นายทะเบียน ผู้รับฝากทรัพย์สิน ให้สามารถทราบถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการออกหุ้นกู้ได้แบบเรียลไทม์ (Real Time) สามารถลดต้นทุนและลดขั้นตอนในการติดต่อสื่อสาร และทำให้การตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่วันที่มีจองซื้อหุ้นกู้ จนถึงวันที่หุ้นกู้ครบกำหนดอายุ

ในส่วนของนายทะเบียนหุ้นกู้เอง ก็มีความมั่นใจและได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชนดังกล่าว โดยสามารถจัดการข้อมูล ตรวจสอบ สอบทาน หรือติดตามผู้ถือหุ้นกู้ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น สามารถลดขั้นตอนงานที่เคยใช้คนทำ (Manual) เนื่องจากลักษณะพื้นฐานของเทคโนโลยีของ Blockchain และ smart contract ซึ่งทำให้ข้อมูลมีความถูกต้อง และมีความปลอดภัยสูง ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไปพร้อมๆ กันในยุคดิจิทัลนี้

ในด้านของผู้รับฝากทรัพย์สิน (custodian) นั้น เทคโนโลยีนี้ยังเป็นประตูเชื่อมระหว่างโลกของธุรกิจการรับฝากทรัพย์สินทางการเงินในปัจจุบัน กับโลกของการรับฝากทรัพย์สินดิจิทัล ระบบนี้ทำให้หุ้นกู้ที่เป็นสินทรัพย์ทางการเงินในปัจจุบันสามารถเก็บในรูปของสินทรัพย์ดิจิทัลได้ด้วย และเปิดโอกาสให้มีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ได้อีกมาก อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนในการให้บริการของผู้รับฝากทรัพย์สินก็อีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๓๑ ไทยเครดิตรายงานผลประกอบการปี 2567 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,624.0 ล้านบาท
๐๙:๔๑ หมอหมีขอเม้าท์! เผยสูตรลับสุขภาพดีด้วยตัวเอง ตามแบบฉบับ เม้าท์กับหมอหมี
๐๙:๑๖ แอ็กซอลตา ประกาศเทรนด์สีรถยนต์ปี 2025 ได้แก่ สีเอเวอร์กรีน สปรินท์ (Evergreen Sprint)
๐๙:๓๔ เกาะติดเลือกตั้ง อบจ. 68 กับไทยพีบีเอส เสียงท้องถิ่นชี้อนาคตประเทศไทย
๐๙:๑๙ น่ารักจนใจเจ็บ! Harupiii อินฟลูญี่ปุ่นรักไทย เปลี่ยนวลีดัง ทำไมทำไม สู่เพลงใหม่ยอดวิวถล่มทลาย
๐๙:๓๔ การแข่งขัน MUICT ENVI Mahidol Hackathon 2025 ภายใต้หัวข้อ : Digital Innovation for Carbon Neutrality Society
๐๙:๒๔ จากภูมิปัญญาพื้นบ้านสู่สินค้าส่งออก เครื่องเคลือบจากอำเภออี้หนาน มณฑลซานตง โด่งดังไกลถึงต่างแดน
๐๙:๓๘ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศกำไรสุทธิ ปี 2567 จำนวน 2,852.1 ล้านบาท เติบโต 77.7%
๐๙:๕๔ RBF สานพลังปลูกป่าชายเลน ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบกบางปู ร่วมแก้วิกฤตโลกร้อน ในโครงการ RBF GREEN VOLUNTEER ปีที่
๐๙:๐๖ ต้อนรับความมั่งคั่งและโชคลาภ พร้อมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนที่โรงแรม อินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ