ทีเอ็มบี-ธนชาต ชู “ซัพพลายเชน โซลูชัน” พยุงอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ดึงพันธมิตรองค์กรใหญ่ช่วยคู่ค้า SME ก้าวผ่านวิกฤต

ศุกร์ ๑๙ มิถุนายน ๒๐๒๐ ๑๑:๓๑
ทีเอ็มบี-ธนชาต ชู “ซัพพลายเชน โซลูชัน” พยุงอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

ดึงพันธมิตรองค์กรใหญ่ช่วยคู่ค้า SME ก้าวผ่านวิกฤต หวังทุกห่วงโซ่เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

ทีเอ็มบีและธนชาต เดินหน้าชวนพันธมิตรองค์กรใหญ่ ช่วยเหลือคู่ค้า SME จับมือก้าวผ่านวิกฤตให้ฟื้นตัวโดยเร็ว ล่าสุดผนึกกำลังลูกค้าองค์กรใหญ่ “กลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ กลุ่มปตท.น้ำมันและการค้าปลีก กลุ่มมิตรผล และเอสซีจี” ยึดหลักซัพพลายเชน โซลูชัน ร่วมแรงสนับสนุนและช่วยเหลือคู่ค้าทั้งห่วงโซ่เพื่อให้อยู่รอดในยุค New Normal ตอกย้ำเป้าหมายการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่ม

นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจจำนวนมากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย หนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยมี 6,662 บริษัท คิดเป็นประมาณ 58% ของสัดส่วนรายได้ต่อ GDP ในประเทศ ขณะที่ธุรกิจ SME มีผู้ประกอบการจำนวนมากกว่า 3 ล้านราย และมีการจ้างงานสูงถึง 82% ของการจ้างงานทั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการ SME ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการมีงานทำและรายได้ของครัวเรือนจำนวนมาก การเร่งให้ความช่วยเหลือ SME จึงเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักลำดับแรกของธนาคาร

ทางธนาคารได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบมาโดยตลอด ตั้งแต่ไตรมาสแรกที่เกิดวิกฤตโควิด-19 โดยความช่วยเหลือจะมี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. มาตรการช่วยเหลือภายใต้โปรแกรมซัพพลายเชน และ 2. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME โดยตรง เพื่อช่วยให้ทุกห่วงโซ่ซัพพลายเชนสามารถฟื้นตัวไปพร้อม ๆ กัน

1.มาตรการช่วยเหลือภายใต้โปรแกรมซัพพลายเชน

ทีเอ็มบีและธนชาต ในฐานะผู้นำแนวคิด Make REAL Change เชื่อว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปได้อย่างยั่งยืน บริษัททุกขนาดต้องเติบโตไปพร้อม ๆ กัน จึงให้ความสำคัญกับซัพพลายเชน โซลูชัน มากว่า 10 ปี เริ่มต้นจากการให้แหล่งเงินทุนแก่เครือข่ายคู่ค้า ซึ่งก็คือ ธุรกิจขนาดกลางและเล็กจำนวนมาก ทุกวันนี้มีพันธมิตรรายใหญ่ที่อยู่ภายใต้โปรแกรมซัพพลายเชน 100 ราย ซึ่งมีคู่ค้าธุรกิจ SME อีก จำนวน 1,200 ราย ด้วยเหตุนี้ ธนาคารจึงนำหลักการซัพพลายเชนมาช่วยเหลือ SME โดยชวนพันธมิตรองค์กรรายใหญ่ให้มาช่วยเหลือคู่ค้ารายเล็ก และเป็นเรื่องน่ายินดีที่พันธมิตรองค์กรรายใหญ่ได้ตอบรับสนับสนุนแนวคิดของธนาคาร

ธนาคารได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภค พลังงาน วัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมด้านการเกษตร ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือคู่ค้า SME ของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ฯ กลุ่ม ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก ผ่าน 2 มาตรการ มาตรการแรก เป็นการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของคู่ค้า หรือ ดีลเลอร์ SME กว่า 400-500 ราย มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมและสามารถประคองธุรกิจได้ในสถานการณ์เช่นนี้ ส่วนมาตรการที่สองคือ การให้เงินทุนหมุนเวียน (Soft Loan) เพิ่มเติมกับดีลเลอร์กว่า 60 ราย วงเงิน 150 ล้านบาท เพื่อให้คู่ค้า SME มีเงินทุนหมุนเวียนในการจ้างพนักงาน จ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าเช่า และอื่น ๆ รวมถึงเอสซีจี ที่ทางธนาคารได้ร่วมมือและพร้อมให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ดีลเลอร์ด้วยดีมาโดยตลอด เป็นต้น

นอกจากนี้ ธนาคารได้ร่วมมือกับกลุ่มมิตรผล ในการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรภายใต้โครงการซัพพลายเชน โซลูชันที่ดำเนินการร่วมกัน โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินส่งเสริมการปลูกอ้อย หรือที่เรียกว่า เกี๊ยวเงินอัตโนมัติ ซึ่งช่วยลดต้นทุนทางการเงินของเกษตรกรในกลุ่มมิตรผล เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนนำไปซื้อปัจจัยการผลิตมาทำการเพาะปลูกต่อไป โดยปัจจุบันมีเกษตรกรภายใต้โครงการฯ ทั่วประเทศกว่าหลายพันราย

2.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME โดยตรง

สำหรับโปรแกรมที่ธนาคารเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME โดยตรง มีหลากหลาย ได้แก่ 1. โปรแกรมการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน 2. การให้เงินทุนหมุนเวียน (Soft Loan) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและรักษาการจ้างงานแก่ลูกค้าของธนาคาร เช่น คอฟฟี่ บีนส์ บาย ดาว ( Coffee Beans By Dao) ร้านอาหารและเบเกอรี่ชื่อดัง, ที.พี.ดรัก ( T.P. Drug ) ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์, สุบากิ ฟู้ด เซอร์วิส (Tsubaki Food Service) ผู้ผลิตและผู้เชี่ยวชาญด้านซอสปรุงรสสไตล์ญี่ปุ่น และ ส.ทวีภัณฑ์ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขาอยู่ในจังหวัดเลย เป็นต้น 3. มอบโปรโมชันพิเศษ ฟรีประกันโควิด-19 ให้แก่พนักงาน เมื่อผู้ประกอบการ SME สมัครบริการ Smart Payroll จ่ายเงินเดือนพนักงานผ่านออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการดูแลพนักงานในสถานการณ์เช่นนี้ และ 4. การจัด SME Knowledge Program ช่วยแนะนำ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SME ของธนาคารแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการตั้งรับเชิงรุก ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจภายใต้ทิศทางเศรษฐกิจใหม่

“เราเชื่อมั่นว่าการจะก้าวข้ามสถานการณ์ที่ท้าทายนี้ ทุกบริษัทไม่ว่าจะธุรกิจขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กต้องเดินไปพร้อมกัน ซึ่งการช่วยเหลือผ่านซัพพลายเชน โซลูชัน จากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่สู่รายเล็ก จะทำให้ SME สามารถตั้งรับต่อสถานการณ์และปรับกลยุทธ์เชิงรุกให้ฟื้นตัวโดยเร็ว ซึ่งเป็นการช่วยทั้งระบบที่ได้ผลอย่างรวดเร็วและยั่งยืน สร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งอุตสาหกรรม ส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในเร็ววัน โดยธนาคารพร้อมสนับสนุนบริษัทคู่ค้าและพันธมิตร เพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป” นายเสนธิป กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO