สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันอันดับ 1 ของประเทศ มีแนวทางการของคณะกรรมการขับเคลื่อนปาล์มน้ำมันคุณภาพจังหวัดสุราษฎร์ธานีอย่างยั่งยืน หรือ สุราษฎร์โมเดล อาทิ เกษตรกรชาวสวนปาล์มและผู้เก็บเกี่ยว จะต้องมีการจัดการสวนปาล์มโดยเก็บเกี่ยวปาล์มสุกเท่านั้น (ลูกร่วง 3-5 ลูก) และผู้เก็บเกี่ยวโดยเฉพาะผู้เก็บเกี่ยวอิสระจะต้องขึ้นทะเบียนและต้องผ่านการประชุมหรืออบรมมีใบรับรองการเก็บเกี่ยวปาล์มที่ถูกต้อง กลุ่มลานเท ให้มีการขึ้นทะเบียนลานเทเพื่อควบคุมลานเทที่รับซื้อปาล์ม และการกำหนดข้อบังคับ เช่น ห้ามแยกลูกร่วง ห้ามรดน้ำ ห้ามมีตะแกรงร่อน และไม่บ่มปาล์ม รวมถึงให้ลานเทมีสิทธิ์คัดและยึดปาล์มดิบ และ กลุ่มโรงงาน โดยโรงงานจะต้องซื้อตามเกณฑ์ที่กำหนดในอัตราน้ำมันขั้นต่ำ 18% ทั้งนี้ ทุกฝ่ายจะต้องดำเนินการตามข้อกำหนดซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีมาตรการและบทลงโทษที่เคร่งครัด
โอกาสนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายแก่ผู้แทนหน่วยงานส่วนกลางและคณะทำงานขับเคลื่อนฯ ระดับจังหวัด ณ ห้องประชุมธูปเตมีย์ บน.7 อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งล่าสุดในคราวประชุม กนป. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 กนป. ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานเพื่อใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนระดับจังหวัดเพื่อการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นประธานคณะทำงาน เพื่อบูรณาการกำกับควบคุมคุณภาพผลผลิต กำกับราคาปาล์มน้ำมันที่เป็นธรรมแก่เกษตรกร และมีพล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประธานอนุกรรมการ เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัด และใช้แนวทางของสุราษฎร์โมเดลเป็นต้นแบบ ขับเคลื่อนผ่านชุดปฏิบัติงานรับผิดชอบงานแต่ละด้านให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในแต่ละท้องที่ซึ่งเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะหัวหน้าทีมจังหวัด จะต้องสรุปผลการปฏิบัติงานทุกสัปดาห์ให้ประธานอนุกรรมการ และรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงาน พร้อมข้อเสนอแนะให้ทราบเป็นประจำทุกเดือน โดยยึดหลักการดำเนินการ 5 ด้าน ดังนี้
1) ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าทีม Single Command บูรณาการสั่งการด้วยตนเอง 2) ให้มีการสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์ม ปลูกฝังการตัดปาล์มที่สุกเต็มที่ 3) กวดขันกำกับให้มีการรับซื้อผลปาล์มที่ได้เกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร ทะลายปาล์มน้ำมัน ตามราคาที่เป็นไปตามโครงสร้างราคาที่กรมการค้าภายในจัดทำขึ้น 4) กำกับให้โรงงานสกัดปาล์มน้ำมันในพื้นที่ดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม อัตราน้ำมัน 18 เปอร์เซนต์ และ 5) กวดขันไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มโดยผิดกฎหมาย
หลังจากนั้น เลขาธิการ สศก. ได้ร่วมเดินทางกับทีมรองนายกรัฐมนตรี ไปยังสหกรณ์สุราษฎร์ธานี จำกัด (โค-อ๊อป) เพื่อพบปะเกษตรกรและมอบถุงยังชีพแก่เกษตรกรชาวสวนปาล์ม 2,000 ชุด หลังจากนั้นได้เดินทางไปยังแปลงปาล์มน้ำมัน ณ สวนปาล์มนายโสฬส เดชมณี อ.พุนพิน และเดินทางไปยังโรงงานปาล์มน้ำมัน บริษัทนิวไบโอดีเซล จำกัด อ.ท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานีตามลำดับ
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ราคาปาล์มปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่าราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลละ 3.11 บาท โดยต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 9,000 บาท/ไร่ ให้ผลผลิตไร่ละ 3 ตัน อย่างไรก็ตาม ระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา ราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 3.09 - 3.22 ในขณะที่มีปาล์มออกสู่ตลาดมากกว่า 1.9 ล้านตันในเดือนเมษายน และ 1.6 ล้านตันในเดือนพฤษภาคมตามลำดับ ซึ่งมติ กนป. ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ได้เห็นชอบให้กระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เร่งรัดการจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบส่วนที่เหลือ จำนวน 37,550 ตัน ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งเร่งดำเนินการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ตลอดจนการรณรงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ให้กับผู้บริโภค ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ และสถานีบริการ เพื่อให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบสามารถรองรับปริมาณผลปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งเชื่อมั่นว่าราคาปาล์มจะสูงขึ้นและไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4 บาท
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กนป. ได้ออกนโยบายและมาตรการ วางแผนให้เกิดการปฏิรูปและพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ซึ่งแนวทางทั้งหมดจะไม่ได้ผล หากไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจาก พี่น้องชาวสวนปาล์มน้ำมัน ผู้ประกอบการลานเท โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม สภาเกษตรกร และเจ้าหน้าที่หน่วยเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวเกษตรกรสวนปาล์ม โดยยึดหลัก “ปาล์มคุณภาพ ราคาที่เป็นธรรม ผลักดันไบโอดีเซล ลดมลภาวะ” ในการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน