โอกาสนี้ วว. ได้แนะนำโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงาน วว. ได้แก่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ เรื่อง “การพัฒนาป่าชุมชนให้เป็นแหล่งผลิต Organic products แบบธรรมชาติ สำหรับผลิตเห็ดพื้นบ้านและผักพื้นบ้านเพื่อสร้างฐานอาหารและเศรษฐกิจในชุมชนอย่างยั่งยืน” ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ เรื่อง “ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร” ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร เรื่อง “ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอาง” ศูนย์เชี่ยวชาญพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม เรื่อง “การจัดการขยะชุมชนและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย วทน.” ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่อง “การใช้ประโยชน์จุลินทรีย์” พร้อมนี้ EGCO ได้เข้าเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ Shared service ของ วว. ได้แก่ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) และโรงงานต้นแบบผลิตไบโอดีเซลต่อเนื่องคุณภาพสูง
รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ นั้น ถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจสร้างความตระหนักถึงความรับชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า การจัดทำโครงการป่าชุมชน การพัฒนาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีทักษะอาชีพเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน การร่วมหารือในครั้งนี้ วว. และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดแนวทางความร่วมมือต่อไปในอนาคตและสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
อนึ่ง ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (Innovative Center for Production of Industrially used microorganisms : ICPIM) ตั้งอยู่ที่ วว. เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ดำเนินงานวิจัยพัฒนาเพื่อนำเชื้อจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่ครบวงจร ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ทดสอบจุลินทรีย์โพรไบโอติกมาตรฐาน ISO/IEC 17025, คลังเก็บรักษาสายพันธุ์โพรไบโอติก (Probiotic Bank) ที่เป็นแหล่งรวบรวมและเก็บรักษาจุลินทรีย์โพรไบโอติกประจำถิ่นที่มีศักยภาพ, ห้องปฏิบัติการเฉพาะทางภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 2 (Biosafety Level 2) สำหรับงานวิจัยพัฒนาเพื่อคัดเลือกจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีศักยภาพกับอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพ และอาหารนม และระบบกระบวนการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ตามมาตรฐานการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice : GMP) เพื่อการผลิตจุลินทรีย์โพรไบโอติกสำหรับนำไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม
โรงงานต้นแบบผลิตไบโอดีเซลต่อเนื่องคุณภาพสูง ตั้งอยู่ ณ บริเวณ วว.เทคโนธานี จ.ปทุมธานี มีกำลังการผลิต 1 ตันต่อวัน สามารถควบคุมการผลิตแบบอัตโนมัติและต่อเนื่อง ต้นแบบดังกล่าวเป็นการจำลองสายกระบวนการผลิตจริงของอุตสาหกรรมผลิตไบโอดีเซลแบบครบวงจร มีส่วนประกอบของเครื่องที่ใช้เพิ่มคุณภาพน้ำมันด้วยกระบวนการไฮโดรจีเนชัน ทำให้น้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้มีคุณภาพสูงในระดับสากลตามมาตรฐาน WWFC สามารถใช้ผสมกับดีเซลใช้ในยานยนต์ได้ นอกจากนี้ยังมีระบบการนำเมทานอลและน้ำกลับมาใช้ใหม่ โรงงานยังได้ออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงานต้นแบบฯ ดังกล่าว จะเน้นการใช้น้ำมันจากพืชที่ไม่ใช่อาหาร เช่น น้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำ เพื่อลดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน ประโยชน์ของโรงงานต้นแบบนี้ใช้เพื่อการวิจัยพัฒนาและรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการขยายขนาดการผลิตในระดับอุตสาหกรรมในอนาคต และยังสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตไบโอดีเซลคุณภาพสูงแก่ภาคการศึกษา และอุตสาหกรรมที่สนใจ โดยคาดหวังว่าในอนาคตเทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถเพิ่มสัดส่วนผสมน้ำมันไบโอดีเซลในปริมาณที่มากขึ้นสำหรับใช้ในยานยนต์ ลดปริมาณนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมจากต่างประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบด้านการเกษตร สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านอุปทานพลังงานชาติ และเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาภาวะโลกร้อนอีกด้วย