สำหรับโครงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพจะเป็นระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างแบบพกพาที่ทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนนั้น จะเป็นการตรวจสอบสารปนเปื้อนสำคัญ 2 กลุ่มคือ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (คลอร์ไพริฟอส) คาร์บาเมต (คาร์บาริล) และไพรีทรอยด์ (ไซเปอร์เมทริน) ในผักและผลไม้ และโลหะหนักซึ่งสามารถตรวจวัดค่าได้หลายชนิด อาทิ สารหนู แคดเมียม ทองแดง โครเมียม ตะกั่ว ปรอท และ สังกะสี ในแหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งจะมีการตรวจวิเคราะห์ที่รวดเร็ว แม่นยำ สามารถตรวจวัดนอกสถานที่ได้ และมีราคาถูก โดยการใช้บัตรเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาให้แล้วเสร็จพร้อมการทดสอบยืนยันผลประมาณ 15 เดือน
โครงการนี้จะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุขและประชาชนทั่วไป มีเครื่องมือที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลบ่งชี้ค่าสารพิษตกค้างที่ได้จากการตรวจวัดจากเซ็นเซอร์แบบต่าง ๆ เข้ากับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือระบบคลาวด์ ทำให้บุคลากรทางสาธารณสุข รวมทั้งผู้ใช้งานทั่วไป ตรวจสอบสารพิษต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ซึ่งการเข้าถึงการวิเคราะห์ข้อมูลการตรวจวัดด้วยสมาร์ทโฟนแพลตฟอร์มนี้ นอกจากจะช่วยในการประเมินคุณภาพของอาหารและน้ำดื่มโดยทั่วไปแล้ว ยังมีประโยชน์ด้านการส่งเสริมให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตตระหนักถึงการปนเปื้อนของสารพิษในพืชผักอาหารและน้ำดื่มน้ำใช้อีกด้วย
ส่วนโครงการด้านการเกษตรจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงกุ้งด้วยระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายและปัญญาประดิษฐ์ เป็นการสร้างต้นแบบระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายราคาประหยัดด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเองภายในประเทศสำหรับบ่อเลี้ยงกุ้ง ที่สามารถตรวจวัดค่าไนไตรท์ซึ่งเป็นของเสียจากน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้งที่พบทั่วไปตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการเลี้ยงจากระบบเปิดมาเป็นการเลี้ยงระบบปิดที่ไม่มีการทิ้งของเสียออกจากฟาร์มหรือทิ้งออกน้อย พร้อมทั้งวิเคราะห์ค่าและแนะนำการปรับปรุงแก้ไขให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย โดยติดตั้งกระจายทั่วทั้งบ่อเลี้ยงกุ้ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการอ่านค่าไนไตรท์ในน้ำได้ดีและมีราคาถูก และนำผลลัพธ์ที่ได้มาวิเคราะห์ประเมินคุณภาพน้ำด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อปรับเปลี่ยนปริมาณการให้อาหารและการใช้เครื่องเติมอากาศได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาให้แล้วเสร็จพร้อมรวบรวมผลทดสอบจากสถานที่จริงประมาณ 2 ปี โครงการพัฒนานี้เป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย เพื่อลดต้นทุนทั้งด้านพลังงาน อาหารและยารักษาโรคของกุ้ง เพิ่มศักยภาพการผลิตและการแข่งขันในเวทีระดับโลก เพิ่มรายได้จากการส่งออกและช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งประชาชนผู้บริโภคจะได้ทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีต่ำลง นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ระบบนี้ไปยังการเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่นได้ในอนาคตอีกด้วย
“ซิลิคอน คราฟท์ ฯ มุ่งหวังที่จะพัฒนาทั้งสองโครงการดังกล่าวให้เป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพต้นทุนการผลิตต่ำ เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศจากฝีมือของคนไทย” นายมานพ กล่าว