จากการติดตามของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) พบว่า พื้นที่การเลี้ยงส่วนใหญ่ อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี เกษตรกรนิยมเลี้ยงพันธุ์ลูกผสมบอร์ ซึ่งจะใช้พ่อพันธุ์ที่มีสายเลือดแท้ผสมกับแม่พันธุ์พื้นเมือง หรือแม่พันธุ์ที่มีสายเลือดบอร์ต่ำ ลักษณะเด่นของแพะพันธุ์บอร์ คือส่วนหัวจนถึงคอมีสีน้ำตาล ส่วนลำตัวมีสีขาว เป็นพันธุ์ที่โตเร็ว และเป็นที่ต้องการของตลาด การเลี้ยงแพะเนื้อมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,119 บาท/ตัว แยกเป็นค่าพันธุ์สัตว์ 1,950 บาท ค่าแรงงาน 540 บาท และส่วนที่เหลือ 629 บาท เป็นค่าอาหาร ยาป้องกันโรค และ ค่าเสื่อมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับราคาขายเกษตรกรสามารถจำหน่ายแพะเนื้อ (อายุเฉลี่ย 6-7 เดือน น้ำหนักประมาณ 30-35 กก./ตัว) ในราคาเฉลี่ย 3,825 บาท/ตัว (127 บาท/นน.ตัว 1 กก.) ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 706 บาท/ตัว
ด้านนางจินตนา ปัญจะ ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าวเพิ่มเติมว่า การเลี้ยงแพะเนื้อจะใช้พื้นที่ไม่มากนัก สามารถกินอาหารได้หลากหลาย เช่น อาหารหยาบ ได้แก่ ฟางข้าว หญ้าสด ใบกระถิน และลำต้นข้าวโพดฝักอ่อน ส่วนอาหารข้น ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป รำข้าว กาก และเปลือกมันสำปะหลัง โดยแพะเนื้อต้องการอาหารวันละ 1-2 กก./วัน อีกทั้ง ยังทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้แพะเนื้อเจริญเติบโต และสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถส่งจำหน่ายแพะเนื้อได้ เนื่องจากประเทศมาเลเซียปิดด่านพรมแดน และระบบขนส่งภายในประเทศมีความยากลำบาก ทำให้ราคาในช่วงนี้ลดลงอยู่ที่ 100 บาท/กก. เฉลี่ย 3,000 บาท/ตัว หากสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายและมีการเปิดด่านพรมแดน สามารถส่งออกได้ตามปกติ คาดว่าราคาซื้อขายแพะเนื้อจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตแพะเนื้อในพื้นที่ภาคตะวันตก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี โทร. 032 337 954 หรืออีเมล [email protected]