รองศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท น้อมเนียน รองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและบริการวิชาการ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาหลักว่า ในทุกครั้งที่เรามีการสื่อสาร จะสะท้อนอัตลักษณ์ของตัวผู้พูดผ่านภาษาที่มีวัฒนธรรมแฝงอยู่ เพื่อบ่งบอกว่าเราเป็นใครมาจากไหน เนื่องจากสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการทำวิจัยเพื่อให้เราสามารถใช้วิธีการสื่อสารหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เน้นการศึกษาและวิจัยภาษาควบคู่กับวัฒนธรรม ซึ่งเป็นไปอย่างกระจกสะท้อนซึ่งกันและกัน โดยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ผู้ใช้ภาษาสามารถเข้าใจวัฒนธรรม แล้วก็สามารถที่จะสื่อสารถึงผู้อื่นได้ ตลอดจนมีความเข้าใจถึงเบื้องหลังทางสังคมวัฒนธรรมที่อยู่ภายใต้ตัวภาษาได้ในขณะเดียวกัน
“แสงไฟที่ปลายอุโมงค์” ในภาวะวิกฤติ คือ การมีทุนทางสังคมที่ดี ประเทศไทยเรามีทุนทางวัฒนธรรมที่ดีที่จำเป็นต้องร่วมด้วยช่วยกันส่งเสริมในช่วงชีวิตปกติวิถีใหม่ (New Normal) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท น้อมเนียน ได้กล่าวถึงผลงานวิทยานิพนธ์ของ นางสาวพัชราภรณ์ อินภู่ ว่าเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของสถาบันฯ ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยโลก โดยถือเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยผ่านการสร้างสรรค์ละครพื้นบ้านในชั้นเรียนภาษาอังกฤษ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ผลงานของ นางสาวพัชราภรณ์ อินภู่ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยด้านการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล Scopus ที่สามารถอ้างอิงได้ในระดับโลก
นอกจากนี้ นางสาวพัชราภรณ์ อินภู่ ยังเป็นนักศึกษาต่างชาติเพียงคนเดียวในประเทศสาธารณรัฐโครเอเชีย ที่ได้รับคัดเลือกให้ไปร่วมเสนอผลงาน The 3rd International Art and Science Symposium ที่จัดโดย Faculty of Teacher Education, University of Zagreb เมื่อวันที่ 29 – 31 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา
นางสาวพัชราภรณ์ อินภู่ เล่าว่า ตนเป็นคนโคราชที่มีความตั้งใจจะริเริ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรมของบ้านเกิดตัวเอง จึงได้ทดลองนำละครพื้นบ้านของโคราชมาจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา จากการศึกษาพบว่ามีงานวิจัยที่ได้รับรองจากองค์การยูเนสโก จากตำนานเก่าแก่ของโคราช เรื่อง “ท้าวปาจิตกับนางอรพิม” ที่พิสูจน์แล้วว่ามีการเชื่อมโยงถึงพื้นที่ที่มีอยู่จริง จากเส้นทางในจังหวัดนครราชสีมา ถึง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และประเทศกัมพูชา ตนจึงได้เลือกนำตำนานดังกล่าวมาจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนภาษาอังกฤษ
โดยใช้ระยะในการจัดการเรียนการสอน 1 ภาคเรียน ที่ให้ผู้เรียนทุกคนในชั้นเรียนได้มีส่วนร่วม 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยมีการทำบันทึกกิจกรรมในการเข้าร่วมผู้เรียน และบันทึกการจัดการเรียนการสอนของผู้สอน และมีการวัดและประเมินผล โดยใช้เทคนิคและศาสตร์การสอนจาก Drama Education ที่เป็นการการดึงตัวตนของผู้เรียนออกมาผ่านกิจกรรมการเรียนการสอน และการแสดงละคร ในบริบทพื้นบ้านอีสาน พบว่าผู้เรียนมีความกังวลในการพูดภาษาอังกฤษลดน้อยลง และมีความมั่นใจในการพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น ทั้งยังได้รับความทางด้านประวัติศาสตร์ ตำนานในท้องถิ่น และเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษจากการสร้างสรรค์บทละครอีกด้วย
นอกจากนี้ ในละครพื้นบ้าน “ท้าวปาจิตกับนางอรพิม” ยังบอกที่มาที่ไปของชื่อแต่ละอำเภอไว้ด้วย อย่างเช่น อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ทำไมถึงชื่อนี้ เพราะในตำนานกล่าวไว้ว่า ท้าวปาจิตได้โยนสินสอดทองหมั้นลงไปในลำน้ำ เนื่องจากโกรธจัดที่ท้าวพรหมทัตชิงตัวนางอรพิมไป หลังจากนั้นจึงเรียกพื้นที่ตรงนั้นกันว่า “ลำปลายมาศ” และกลายเป็นชื่ออำเภอในปัจจุบัน ชื่อของอำเภอพิมาย ก็มาจากคำพูดของนางอรพิมที่ว่า “พี่มา..พี่มาแล้ว” ซึ่งงานวิจัยนี้ต่อมาได้รับการต่อยอดเผยแพร่เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในเชิงสร้างสรรค์ทาง E-learning และโซเชียลมีเดียต่างๆ อีกด้วย
นางสาวพัชราภรณ์ อินภู่ จะร่วมเสนอผลงานแบบปากเปล่า (Oral Presentation) ในกลุ่มมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ระดับปริญญาโท ในวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2563 ระหว่างเวลา 15.00 - 16.30 น. ผ่าน Zoom ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียด และลงทะเบียนเพื่อเข้าฟังแบบออนไลน์ได้ที่ https://www.facebook.com/grad.mahidol สอบถาม email : [email protected]