ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2563 (ปีเพาะปลูก 2563/64) แบ่งเป็น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 เริ่มปลูกเดือนมีนาคม ถึง เดือนตุลาคม 2563 เก็บเกี่ยวช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ถึง กุมภาพันธ์ 2564 และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 เริ่มปลูกเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เก็บเกี่ยวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งคาดว่า ทั้ง 2 รุ่น เนื้อที่เพาะปลูกรวมทั้งประเทศ 6.66 ล้านไร่ ลดลงร้อยละ 0.97 ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 4.67 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.36 ส่วนผลผลิตต่อเนื้อที่เพาะปลูก ทั้งประเทศ 701 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.53 ซึ่งภาพรวมแม้ว่าเนื้อที่เพาะปลูกจะลดลง แต่เนื่องจากปีที่แล้วผลผลิตเสียหายจากภัยแล้งและการระบาดของหนอนกระทู้ ปีนี้เกษตรกรเริ่มมีการจัดการควบคุม และกำจัดหนอนกระทู้ได้ดีขึ้น ทำให้คาดว่าการระบาดของหนอนกระทู้จะลดลง ประกอบกับปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนปีนี้ก็จะมากกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงเพิ่มขึ้น สำหรับเนื้อที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มลดลงทั้ง 2 รุ่น โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 ลดลง เนื่องจากเกษตรกรเกรงว่าจะประสบปัญหาภัยแล้งและหนอนกระทู้ดังเช่นปีที่ผ่านมา อีกทั้งต้นทุนการบำรุงดูแลรักษาที่สูงขึ้น จึงปรับเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลังที่ทนแล้ง และปลูกสับปะรดโรงงานที่ราคากำลังปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมีการปล่อยเป็นที่ว่าง ส่วนเนื้อที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 ลดลง เนื่องจากเกษตรกรเกรงว่าจะขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก ประกอบกับภาครัฐยังไม่มีโครงการส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหมือนปีที่ผ่านมา เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดตัดต้นสด ถั่วเขียว ปอเทือง และปล่อยว่าง
มันสำปะหลังโรงงานปี 2564 (ปีเพาะปลูก 2563/64) เริ่มปลูกมากช่วงมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม 2563 เก็บเกี่ยวช่วงตั้งแต่ ตุลาคม 2563 ถึง กันยายน 2564 คาดว่า เนื้อที่เก็บเกี่ยว รวมทั้งประเทศ 8.84 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.20 ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 29.90 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.83 ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว ทั้งประเทศ 3,382 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.58 โดยเนื้อที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น ทุกภาค จากที่เกษตรกรขยายเนื้อที่ปลูกมันสำปะหลังแทนอ้อยโรงงานที่ราคามีแนวโน้มลดลง ปลูกแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับความเสียหายจากหนอนกระทู้ และบางพื้นที่ปลูกแทนในพื้นที่ยางพารา โดยผลผลิตปีนี้อาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงต้นปี 2563 แต่ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ถึงปี 2564 คาดว่าปริมาณน้ำฝนจะเพียงพอในช่วงมันสำปะหลังเริ่มลงหัวและสะสมอาหาร ประกอบกับเกษตรกรสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและกำจัดโรคใบด่างได้มากขึ้น ใช้ท่อนพันธุ์ดีและไม่เป็นโรค จึงส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ สศก. จะยังคงติดตามสถานการณ์การผลิต ภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วง ในช่วงการเจริญเติบโต จนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ซึ่งอาจส่งผลต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เพื่อนำมาปรับค่าพยากรณ์ต่อไป โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ ส่งเสริมการปลูกพืชโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนน้ำชลประทานจะเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น จึงขอให้เกษตรกรคำนึงถึงปริมาณน้ำและการคาดหมายลักษณะอากาศก่อนการเพาะปลูก เพื่อลดความเสียหายของผลผลิต สำหรับท่านที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลพยากรณ์ เพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2561 2870 หรืออีเมล [email protected]