นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขับเคลื่อนโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และต่อเนื่องมาจนถึง ปัจจุบัน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้น้อมนำหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นทางรอดจากผลกระทบของวิกฤตต่าง ๆ เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงอาหารด้วยแหล่งอาหารที่ตนเองผลิต ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกรอย่างชัดเจน โดยได้นำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองให้สอดคล?องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ซึ่งเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ อันเกิดจากการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยการสร้างอาชีพอย่างเหมาะสมกับทรัพยากรและปัจจัยการผลิตที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า เพื่อมุ?งหวังที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
นางจินตนา ปัญจะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่ของ สศท.10 โดยสัมภาษณ์นายวิโรจน์ กอนสุข ปราชญ์เกษตรกร ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรทฤษฎีใหม่ หมู่ 1 ตำบลหนองตาแต้ม อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ประสบความเสร็จในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยได้เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ปี 2560 และได้น้อมนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผนวกกับแนวคิดเกษตรผสมผสาน มาประยุกต์ใช้บนพื้นที่ จำนวน 21 ไร่ เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์และจัดสรรพื้นที่ ให้เหมาะสมกับพืชและแหล่งเก็บน้ำ การปรับปรุงคุณภาพดิน การบริหารจัดการน้ำ โดยใช้หลักการธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และยังช่วยให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี ซึ่งหลักการทำเกษตรทฤษฏีใหม่ของนายวิโรจน์ สามารถต่อยอดโดยมีการขยายผลสู่เกษตรกรรายอื่นในตำบลหนองตาแต้ม กว่า 90 ครัวเรือน และยังขยายผลการทำธนาคาร น้ำใต้ดิน ไปสู่พื้นที่อำเภอปราณบุรี อีก 5 จุด ปัจจุบันมีเกษตรกรแปลงใหญ่และเกษตรกรทั่วไปให้ความสนใจทำเกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเข้ามาศึกษาดูงานที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรของตนเอง ประมาณ 200 คน/ปี ซึ่งทางศูนย์ฯ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้หลายด้าน เช่น การวางระบบน้ำในพื้นที่เกษตร การทำเกษตรแบบใช้น้ำน้อย การทำน้ำหมักชีวภาพ การจัดทำบัญชีครัวเรือน เป็นต้น
สำหรับพื้นที่การเกษตรของนายวิโรจน์ จำนวน 21 ไร่ ได้มีการแบ่งตามสัดส่วน โดยเป็นนาข้าว จำนวน 10 ไร่ สับปะรด จำนวน 7 ไร่ บ่อน้ำ จำนวน 1 ไร่ (แบ่งเป็น 2 บ่อ) ไม้ผล ได้แก่ มะม่วงและมะพร้าว จำนวน 1 ไร่ ส่วนที่เหลือจำนวน 2 ไร่ แบ่งเป็น ปลูกพืชผัก สมุนไพร เลี้ยงไก่ และที่อยู่อาศัย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 40,000 บาท/ปี เนื่องจากลดการใช้สารเคมีลง 70% โดยเปลี่ยนเป็นผลิตปุ๋ยอินทรีย์สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช สามารถสร้างรายได้ประมาณ 400,000 บาท/ปี ซึ่งรายได้แบ่งเป็น นาข้าว 120,000 บาท/ปี สับปะรด 200,000 บาท/ปี ไม้ผล 40,000 บาท/ปี และพืชผักสมุนไพร 40,000 บาท/ปี เมื่อหักต้นทุนและค่าใช้จ่ายแล้ว คิดเป็นรายได้เฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 250,000 บาท/ปี นอกจากนี้ ยังมีการรวมกลุ่มในรูปของวิสาหกิจชุมชนเพื่อรวบรวมผลผลิตส่งขาย โดยการคัดเกรดสินค้า ให้ได้คุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด และยังมีพ่อประจำเข้ามารับซื้อผลผลิตถึงพื้นที่ ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือท่านใด ที่สนใจทำเกษตรทฤษฎีใหม่สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายวิโรจน์ กอนสุข ปราชญ์เกษตรกร ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรทฤษฎีใหม่ หมู่ 1 ตำบลหนองตาแต้ม อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทร 08 3916 5159