จิตเวชโคราช แนะ“ 6 เทคนิควิธี” หยุดใจไม่ให้คิดถึงยาเสพติด เบรกอาการเสี้ยนยา !!! ป้องกันเสพติดซ้ำ!!

ศุกร์ ๒๖ มิถุนายน ๒๐๒๐ ๑๗:๒๑
รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯห่วงผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษาและหยุดเสพได้แล้ว กลับไปเสพยาซ้ำหลังเจอตัวกระตุ้นเดิม ทำให้ใจคิดถึงความสุขที่ได้จากยาเสพติด ชักนำให้เกิดอาการเสี้ยนยา แนะวิธีป้องกันโดยให้ฝึกใช้ 6 เทคนิคเพื่อหยุดความคิด อาทิ การจินตนาการ ดีดหนังยางที่ข้อมือและพูดปฏิเสธว่า”ไม่” ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทำสมาธิ ควรหมั่นฝึกทำวันละ 2 เวลา และควรทำทันทีเมื่อเกิดความคิด พร้อมทั้งย้ำเตือนผู้เสพติดสารเสพติดให้รีบบำบัดรักษา ก่อนสมองจะทรุดหนัก ป่วยทางจิตเพิ่ม

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดเผยเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดว่า สารเสพติดที่พบในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 คือ จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ หลักๆคือยาบ้า อย่างไรก็ตามสารเสพติดทุกชนิดที่เสพเข้าไป จะออกฤทธิ์ที่สมองทั้งประเภทกระตุ้น กด หลอนประสาท และออกฤทธิ์ผสมผสานทั้ง 3 ประเภท มีผลให้ระดับสารเคมีในสมองผิดปกติ เสียสมดุลระหว่างสมอง 2 ส่วน คือสมองส่วนคิด มีหน้าที่ควบคุมสติปัญญา ใช้ความคิด มีเหตุผล กับสมองส่วนอยาก ซึ่งควบคุมอารมณ์ ในผู้ที่เสพติดสมองส่วนอยากจะมีอิทธิพลเหนือกว่าสมองส่วนคิด ทำให้เกิดความผิดปกติทั้งทางร่างกาย อารมณ์ ความคิดและพฤติกรรม และเกิดโรคสมองติดยา หากเสพไปนานๆ จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคจิตได้ เช่น ยาบ้าทำให้เกิดอาการทางจิตที่มีภาวะหวาดระแวง ได้แก่ หลงผิด ประสาทหลอน นำไปสู่พฤติกรรมรุนแรง ทำร้ายตนเองหรือคนใกล้ชิดได้ มีรายงานการศึกษาในต่างประเทศพบว่าผู้ที่ติดยาบ้า จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคจิตเภทมากกว่าคนไม่เสพถึง 9.37 เท่าตัว

ทั้งนี้ ในรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ 2563 มานี้ ศูนย์ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข รายงานในเขตสุขภาพที่ 9 มีผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เข้ารับการบำบัดรักษาในรพ.ในพื้นที่ 89 แห่ง รวม 80,000 กว่าคน ในปี 2562 มีจำนวน 130,000 กว่าคน ในจำนวนนี้รับไว้รักษาที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯเนื่องจากมีอาการทางจิตร่วมด้วย เช่นซึมเศร้า มีความคิดฆ่าตัวตาย จำนวน 2,600 คน ซึ่งมากเป็นอันดับ 5 ของผู้ป่วยทุกโรคที่เข้ารักษาทั้งหมด

“จึงขอให้ผู้ติดสารเสพติดทุกชนิด รีบเข้าบำบัดรักษา หากสามารถหยุดเสพตั้งแต่เริ่มเสพไม่นาน สมองจะมีโอกาสฟื้นและกลับมาทำงานเป็นปกติ การบำบัดขณะนี้เน้นทั้งทางกาย ใจและสังคมไปพร้อมๆกัน ใช้เวลา 4 เดือน และติดตามต่อเนื่องอีก 1 ปี โดยสามารถขอรับคำปรึกษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง” นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว

นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวต่อว่า เรื่องที่เป็นห่วงหลังจากที่ผู้ป่วยผ่านการบำบัดฟื้นฟู สามารถหยุดเสพยาได้แล้ว คือการเกิดอาการอยากยาหรือที่เรียกว่าเสี้ยนยา ซึ่งถือว่าเป็นการติดยาเสพติดทางจิตใจ มักพบในผู้เสพติดทุกรายทั้งในผู้ที่คิดจะเลิก ไม่คิดเลิกและอยู่ในระหว่างหยุดเสพ อาการนี้ไม่สามารถรักษาให้เลือนหายไปจากจิตใจได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยสมองของผู้เสพจะเก็บความทรงจำความสุขความพอใจจากยาเสพติดเอาไว้ เมื่อผู้เสพติดเจอกับตัวกระตุ้นเดิมๆ เช่น เพื่อนที่เคยเสพ สถานที่เสพ เป็นต้น จะกระตุ้นความทรงจำ ทำให้คิดถึงยาเสพติด เกิดความรู้สึกต้องการใช้ยา โดยแสดงอาการต่างๆปรากฎเช่น กระสับกระส่าย ใจสั่น ปวดท้อง ปวดหัว หงุดหงิดง่าย กลัว เป็นต้น เป็นสาเหตุให้กลับไปเสพยาซ้ำ หรือเลิกเสพไม่ได้

วิธีการป้องกันที่ได้ผล ก็คือต้องเร่งหยุดที่ความคิดถึงยาตั้งแต่เริ่มต้นให้ได้ เพื่อสกัดไม่ให้เกิดความอยากยาตามมา โดยใช้เทคนิคของการหยุดความคิดมาช่วย มี 6 ประการ ดังต่อไปนี้ 1. การจินตนาการ โดยสร้างภาพในจินตนาการว่าเราปิดสวิทช์ความคิดที่จะใช้ยา และวาดภาพอื่นๆซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม หรือมีความหมายต่อเราและไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จะทำให้เราสบายใจ มีความสุขแทน 2. การดีดหนังยาง โดยใส่หนังยางไว้ที่ข้อมือ เมื่อใดก็ตามที่เริ่มคิดถึงยาเสพติด ให้ดีดหนังยางและพูดกับตัวเองว่า “ไม่” แล้วเปลี่ยนไปคิดเรื่องอื่นแทน 3. การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เมื่อมีความรู้สึกว่าหนักตื้อๆ เป็นตะคริวในท้อง ซึ่งเป็นอาการอยากยา ให้สูดลมหายใจเข้าลึกๆให้อากาศเข้าเต็มปอด แล้วจึงผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ทำซ้ำกัน 3 ครั้ง จะรู้สึกผ่อนคลาย ลดอาการที่เกิดขึ้นได้ โดยสามารถทำซ้ำๆทุกครั้งเมื่อรู้สึกมีอาการอยากยาเกิดขึ้นอีก

4.การทำสมาธิ เมื่อคิดถึงยาเสพติด ให้หลับตา แล้วเพ่งความสนใจเพื่อจับความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกที่บริเวณปลายจมูก หากจับความรู้สึกลมหายใจไม่ได้ ให้หายใจเข้าออกยาวๆประมาณ 2-3 ครั้ง แล้วผ่อนลมหายใจเข้าออกเป็นปกติ ทำต่อเนื่องกันอย่างน้อย 1 นาที ควรฝึกทำสมาธิทุกวัน วันละ 2 ครั้ง คือเช้าและเย็น เพื่อให้เกิดเป็นความชำนาญ 5. ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจไปทำกิจกรรมอื่นแทน เพื่อช่วยผ่อนคลายและทำให้เกิดความสุข เช่น ออกกำลังกาย ทำงานอดิเรก การสวดมนต์ ร้องเพลง เป็นต้น และ 6.โทรศัพท์ปรึกษาใครบางคน อาจเป็นพ่อ แม่ พี่ เพื่อน ครู หรือพระ เป็นต้น ควรมีเบอร์โทรศัพท์ของผู้ที่สนับสนุนให้กำลังใจ มีเวลาให้เราและติดต่อได้เสมอ เมื่อเกิดความรู้สึกคล้ายอาการอยากยา หรือมีความคิดแบบเดิมๆ เกิดขึ้น การได้พูดคุยจะช่วยระบายความรู้สึกออกไป และเข้าใจสิ่งที่เรากำลังคิดยิ่งขึ้น

วิธีการหยุดความคิดที่กล่าวมา สามารถเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสมกับตนเอง และควรฝึกทำทุกวัน จะทำให้เกิดความเคยชิน และสามารถนำมาใช้อย่างได้ผล โดยหากทำร่วมกับการหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความคิดถึงยาเสพติด และจัดกิจกรรมตนเองเพื่อใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ จะได้ผลดียิ่งขึ้น นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม