สคร. ยังติดตามงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด ช่วยการฟื้นฟูเศรษฐกิจจาก COVID - 19

จันทร์ ๒๙ มิถุนายน ๒๐๒๐ ๐๙:๓๒
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร. ได้ติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2563 ของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง ที่ สคร. กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งในภาพรวมรัฐวิสาหกิจยังสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมจำนวน 104,214 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 101 ของแผนการเบิกจ่ายสะสม รวมทั้งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 โดยรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่และสามารถเบิกจ่าย

ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา รองผู้อำนวยการ สคร. รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง แบ่งเป็นการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 34 แห่ง จำนวน 61,140 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 8 เดือน (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – พฤษภาคม 2563) และการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 10 แห่ง จำนวน 43,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 114 ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 5 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2563) โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้เกินกว่าเป้าหมาย เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ของ รฟม. โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้ เพื่อสร้างความมั่นคงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และงานก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบท่อส่งน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วงบางซื่อ – รังสิต (รถไฟชานเมืองสายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554 – 2560) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่ดำเนินการล่าช้าต่อเนื่องมา

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวสรุปว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID - 19 ได้ส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนบางโครงการที่ต้องใช้บุคลากรและการนำเข้าอุปกรณ์ จากต่างประเทศ รวมทั้งผู้รับเหมาไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องปรับปรุงแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับความเหมาะสมในการลงทุนและผลการดำเนินงานจริง อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ยังคงสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลมาจากการนำงานที่สามารถเบิกจ่ายได้มาทดแทนผลกระทบเหล่านี้ เช่น เงินเบิกจ่ายล่วงหน้าให้กับผู้รับจ้างหรือค่าทดแทนเพื่อชดเชยให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นการช่วยผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ
๑๖:๑๘ ทรู คอร์ปอเรชั่น เตรียมเปิดจองซื้อหุ้นกู้ชุดใหม่รับปีมะเส็ง ตอบโจทย์นักลงทุนที่มองหาโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคง
๑๖:๒๕ วัน แบงค็อก เตรียมเฉลิมฉลองเคาท์ดาวน์ศักราชใหม่สุดยิ่งใหญ่
๑๖:๐๖ EXIM BANK โชว์ศักยภาพ SFI แห่งแรกได้รับมาตรฐานสากล ISO 14064-1:2018 เดินหน้าบทบาท Green Development Bank
๑๖:๑๙ ซานตาคลอส ฟลายอิ้ง ส่งความสุขในเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๑๖:๔๓ Spacely AI คว้ารางวัลที่สาม ในการแข่งขันนวัตกรรมระดับโลกของ SketchUp
๑๖:๓๒ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ทุ่มกว่า 1.6 ล้าน มอบความห่วงใย ร่วมฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังจากน้ำท่วมใหญ่
๑๖:๒๑ NRF เปิดตัว Mini C สาขาใหม่ในสหราชอาณาจักร ตอกย้ำกลยุทธ์ค้าปลีกแบบ Hub and Spoke ยอดขายทะลุเป้า พร้อมกระแสรีวิว 5 ดาวจากลูกค้า
๑๖:๓๘ บางจากฯ ร่วมสร้างสีสัน ส่งต่อสุขภาพดี ชวน เมย์ รัชนก ร่วมแข่งกีฬา Econmass Sport Day 2024
๑๖:๐๐ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เอิ้นหาพี่น้องโค้งสุดท้าย! ชวนมาม่วนซื่นส่งท้ายปี สูดอากาศดีกลางทุ่งดอกไม้บาน ชมงานศิลป์สุดอลัง พร้อมกิจกรรมม่วน ๆ ทั้งครอบครัว 2 สัปดาห์สุดท้าย