ปัญหาข้างต้นส่งผลให้บางประเทศได้ประกาศใช้มาตรการทางการค้าที่อาจขัดแย้งกับกฎระเบียบของ WTO เช่น การห้ามการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการป้องกันรักษาโรค COVID-19 เพื่อบรรเทาภาวะความขาดแคลนสินค้าในประเทศของตน จึงจำเป็นต้องกำชับให้ประเทศสมาชิกWTO ร่วมกันหาแนวทางสำหรับการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อไม่ก่อให้เกิดเป็นอุปสรรคทางการค้าของโลกโดยไม่จำเป็น เพราะการใช้มาตรการเช่นนี้ อาจทำให้อุปทานสินค้าอาหารของโลกลดต่ำลง ราคาสินค้าสูงขึ้น จนเกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการค้าสินค้าเกษตร และเกิดการขาดแคลนสินค้าอาหารที่สำคัญ อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกในที่สุด
โอกาสนี้ กลุ่มประเทศต่างๆ อาทิ กลุ่ม Cairns Ottawa และ EU ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อแสดงจุดยืนในการใช้มาตรการทางการค้าในช่วงระหว่างสถานการณ์ COVID-19 โดยเน้นย้ำว่า การใช้มาตรการต้องสอดคล้องกับกฎ WTO และควรมีการบังคับใช้เป็นการชั่วคราว มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทำให้เกิดการค้าที่เปิดกว้าง และคาดการณ์ได้ (open and predictable trade) โดยประเทศสมาชิก ได้ร่วมกันตรวจสอบมาตรการที่เกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ประเทศสมาชิกได้แจ้งต่อ WTO เช่น เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ที่ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกข้าว ส่วนอียิปต์ และฮอนดูรัส ได้ห้ามส่งออกพืชตระกูลถั่ว ขณะที่คาซัคสถาน รัสเซีย และคาจิกิสถาน จำกัดการส่งออกข้าวสาลี เป็นต้น สำหรับประเทศไทย ได้แจ้งให้ประเทศสมาชิกรับทราบเกี่ยวกับการใช้มาตรการห้ามการส่งออกไข่ไก่ โดยประกาศใช้เป็นการชั่วคราวเฉพาะช่วงระหว่างวันที่ 26 มีนาคม - 30 เมษายน 63 ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามหลักการของ WTO
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ประเทศสมาชิก WTO นำประเด็นข้อจำกัดในช่วงสถานการณ์ COVID-19 มาเป็นเหตุอ้างเพื่อนำมาตรการต่างๆ มาใช้เป็นอุปสรรรคทางการค้าที่ไม่จำเป็น องค์การการค้าโลกในฐานะผู้ควบคุมการใช้มาตรการของประเทศสมาชิก ควรเร่งแสดงบทบาทอย่างเข้มแข็งในการดำเนินการเร่งรัดสร้างกฎ กติกา และแนวทางสำหรับการใช้มาตรการต่างๆ รวมถึงการสร้างช่องทางในการสื่อสารเพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการค้า และติดตามความเคลื่อนไหวของมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้าย