ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “บทบาทของทีเซลส์ ในการดำเนินงานพัฒนาแพลตฟอร์ม Making Every Life Better (MELB) ซึ่งได้ริเริ่มการทำงานร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงซัพพลายเชนวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ในช่วงที่ประเทศไทยมีการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจากการริเริ่มความร่วมมือในภารกิจดังกล่าว นำมาซึ่งการขยายผลการพัฒนาแพลตฟอร์มต่อในระยะที่ 2 เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างซัพพลายและดีมานด์ของผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ และกลไกการสนับสนุนต่างๆ อาทิ การระดมทุน การจับคู่ผู้ผลิต นักประดิษฐ์ และบุคลากรทางการแพทย์ โดยทีเซลล์พร้อมให้การสนับสนุนในด้านองค์ความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์ อาทิ การวิจัยและพัฒนา การวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐาน การเชื่อมโยงข้อมูลการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ และสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มในมิติต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งและเติบโต ควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป”
คุณวุฒิพงษ์ ผาณิตเศรษฐกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ พลัส เอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากประเทศจีน และพบการแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นนอกประเทศจีนเป็นจำนวนมาก อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เริ่มระบาดจนถึงปัจจุบัน ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสสะสมทั่วโลก 5,678,146 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 92,060 ราย ผู้เสียชีวิต 351,654 ราย รักษาหาย 2,428,132 ราย ในประเทศไทย ยอดรวมผู้ป่วยสะสมเพิ่มมาอยู่ที่ 3,054 ราย เสียชีวิต 57 ราย รักษาหายแล้ว 2,931 ราย และยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 66 ราย (จากยอดวันที่ 27 พฤษภาคม 2563) นั้น ทำให้บริษัทเล็งเห็นความสำคัญในการร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยทีเซลล์เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของไทย และบริษัท ฟินิกซิคท์ ซึ่งมีแพลตฟอร์มการระดมทุนที่เป็นที่รู้จักในนาม สินวัฒนา เมื่อผนวกรวมกับเจตนารมณ์ของบริษัท ควอลิตี้ พลัสฯ โดยมีจุดประสงค์ที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มสุขภาพและความงาม จึงนำมาซึ่งการพัฒนา MELB Platform เพื่อตอบโจทย์และเชื่อมโยงผู้ที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์สุขภาพ ให้สามารถระดมทุนจากผู้ที่สนใจจะช่วยเหลือบุคลากรการแพทย์ และบุคลากรการแพทย์ก็สามารถแจ้งขอรับวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ผ่านทางแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ ในระยะต่อไป หน่วยงานพันธมิตรมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาแพลตฟอร์มต่อเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบตลอดทั้งห่วงโซ่การวิจัยและธุรกิจ”
“MELB Platform จะเป็นแพลตฟอร์มที่นำพาอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามรวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ข้ามข้อจำกัดในด้านเงินทุน รวมถึงช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมขั้นสูง เทคโนโลยี นักวิจัยและนวัตกรรม ให้สามารถนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ใช้สร้างขึ้น ไปใช้ในเชิงเชิงพาณิชย์ได้ ตลอดจนช่วยเหลือผู้คนในสังคมที่มีความต้องการใช้ หรือขาดแคลนสิ่งต่างๆ ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น” คุณวุฒิพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
คุณหงส์สิน เควก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท ฟีนิกซิคท์ จำกัด (สินวัฒนา) กล่าวว่า “จากประสบการณ์และความชำนาญการของสินวัฒนา ด้านแพลตฟอร์มเพื่อการระดมทุน หรือ คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) และ CrowdInvesting ที่ให้บริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ ภายใต้อุดมการณ์ “เราจะไม่ให้เงินทุนเป็นอุปสรรคของคุณ” พร้อมที่จะเชื่อมโยงการใช้งานแพลตฟอร์มการระดมทุนผนวกเข้ากับแพลตฟอร์ม MELB เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเปิดใหม่ หรือใครก็ตามที่ต้องการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยสามารถเปลี่ยนชีวิตและสร้างผลลัพธ์ที่ดีอย่างยั่งยืนในอนาคต และมีแนวทางที่ยึดอยู่บนหลักเศรษฐกิจพอเพียง และ เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ถือได้ว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่เข้ามาช่วยสำหรับตลาดเงินทุน ที่เปิดโอกาสให้กับผู้กล้าที่จะเปลี่ยน และพร้อมที่จะขับเคลื่อนไอเดียของตนให้กลายเป็นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง”