“อาชีวะเกษตรบุรีรัมย์ Farmstay” จุดเช็คอินแห่งใหม่จังหวัดบุรีรัมย์

อังคาร ๓๐ มิถุนายน ๒๐๒๐ ๑๖:๕๗
เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มดีขึ้น รัฐบาลจึงมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ และ มีแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการเชิญชวนคนไทยให้มาท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อหวังให้การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวและเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นโดยเร็ว

นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ เป็นสถานศึกษาอาชีวศึกษาด้านเกษตรกรรม เปิดสอน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับปวช. ปวส.และปริญญาตรี และปัจจุบันได้เปิดสอนสาขาวิชาการโรงแรมเพิ่มอีกสาขาหนึ่ง ซึ่งวิทยาลัยมีอาคารปฏิบัติการโรงแรม ให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ โดยได้บูรณาการหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาในหลากหลายสาขาวิชาให้นักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ผ่านการฝึกปฏิบัติงานในสถานการณ์จริงเพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญในสาขาที่เรียน สร้างรายได้ระหว่างเรียน และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถประกอบอาชีพได้ทันที ดังเช่น จุดเช็คอินอาชีวะเกษตรบุรีรัมย์ Farmstay ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้ประสบการณ์ที่ได้รับไปสร้างงาน สร้างรายได้ในระหว่างเรียน และเมื่อจบการศึกษาก็นำไปประกอบอาชีพได้ทันที

น้องปิ่นหรือ นางสาวศุภลักษณ์ ลุนนู นักศึกษาชั้น ปวช.3 สาขาวิชาการโรงแรม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ เล่าว่า หัวใจของงานแม่บ้านคือความสะอาด มากกว่านั้นคือ ความซื่อสัตย์ อย่างมีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ประทับใจ ระหว่างฝึกปฏิบัติงานแม่บ้านในการทำความสะอาดห้องพักที่แขกได้เช็คเอ้าท์ออก ได้พบสร้อยคอทองคำวางอยู่ในห้องน้ำ จึงได้รีบแจ้งครูเมทินี สิงห์นาม ครูหัวหน้าแผนกวิชาการโรงแรม เพื่อติดต่อประสานให้แขกเดินมารับคืน ซึ่งแขกดีใจมากที่ได้ของมีค่าคืนและมอบทิปให้จำนวน 300 บาท เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รู้สึกปลื้มใจมาก โดยไม่เพียงแต่ความสะอาดและความซื่อสัตย์เท่านั้นที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษ แต่งานแม่บ้านยังต้องเอาใจใส่ สังเกตรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของแขกที่พัก และต้องดูแลให้เขารู้สึกเป็นคนพิเศษจริง ๆ ด้วยหัวใจการบริการ

น้องมินต์ หรือ นางสาวภรินทร พลเคน นักศึกษาชั้น ปวส.2 สาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ เล่าว่า ได้ฝึกปฏิบัติงานในโรงงานแปรรูปนมเป็นนมพาสเจอร์ไรส์ ซึ่งตั้งอยู่ในวิทยาลัย โดยมีครูกิตติศักดิ์ แท่นแก้ว ครูแผนกวิชาสัตวศาสตร์ เป็นครูที่ปรึกษา ซึ่งโรงงานแปรรูปนมนี้มีกำลังการผลิตได้ถึง 1500 ลิตรต่อชั่วโมง และได้แบ่งฐานการผลิตนมให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์จนครบทุกฐาน

เริ่มตั้งแต่ฐานการรับน้ำนมดิบ ซึ่งมาจาก 2 แหล่ง คือ นมจากฟาร์มโคนมแผนกวิชาสัตวศาสตร์ของวิทยาลัย และจากวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคนมปากช่อง เพื่อผลิตเป็นนมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ซึ่งขนส่งโดยรถบรรทุกนมที่รักษาความเย็น ขั้นตอนเริ่มจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำนมดิบเบื้องต้น โดยดูจากทางกายภาพ เช่น สีซึ่งควรมีสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นคาวเล็กน้อย ไม่มีกลิ่นผิดปกติ เนื้อนมไม่แยกชั้นหรือจับตัวเป็นก้อน ไม่มีตะกอนฝุ่นผง ดูการตกตะกอนแอลกอฮอล์ เพื่อประเมินว่าจะรับซื้อนมหรือไม่ ซึ่งถ้านมผ่านกระบวนการดังกล่าวจะรับเข้าสู่โรงงาน ส่วนตัวอย่างนมที่เหลือจะนำไปตรวจสอบยาปฏิชีวนะ วิเคราะห์องค์ประกอบ เช่น โปรตีน ไขมัน เพื่อใช้คำนวณราคาในการรับซื้อ จากนั้นเข้าสู่ฐานการปรุงผสมนมพาสเจอร์ไรส์ ซึ่งในโครงการนมโรงเรียน จะใช้น้ำนมดิบ 100 % มาใช้ในการผลิตนมจืดทั้งหมด ส่วนตลาดนมพาณิชย์ จะผลิตรสจืด หวาน ช็อคโกแล็ต โดยจะมีการเติมน้ำตาลและผงโกโก้เข้าไป สำหรับฐานการฆ่าเชื้อโรคในน้ำนม ใช้การฆ่าเชื้อโดยวิธีพาสเจอร์ไรส์ที่อุณหภูมิ 78 องศาเซลเซียส นาน 16 วินาที และทำให้เย็นลงทันทีที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส แล้วนำไปเก็บไว้ในถังเพื่อรอการบรรจุ ส่วนฐานการบรรจุ จะบรรจุด้วยเครื่องบรรจุอัตโนมัติ ภาชนะบรรจุเป็นถุงพลาสติกผ่านการฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเลต ฆ่าเชื้อชุดบรรจุอัตโนมัติด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 90 องศาเซลเซียส ก่อนทำการบรรจุ และนมพาสเจอร์ไรส์รอการบรรจุต้องมีอุณหภูมิ ไม่เกิน 6 องศาเซลเซียส ต่อไปคือฐานห้องเย็นเพื่อรอจำหน่าย นมพาสเจอร์ไรส์ที่บรรจุแล้วจะนำไปเก็บไว้ในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 2 – 4 องศาเซลเซียส จัดเรียงโดยมีป้ายแสดงสถานะอย่างชัดเจน มีการเช็คอุณหภูมิห้องเย็นทุก 2 ชั่วโมง จากนั้นส่งไปฐานการตรวจสอบคุณภาพก่อนการจำหน่าย มีการตรวจสอบองค์ประกอบในน้ำนมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด คือ ไขมันนมต้องมากกว่า 3.25 % ธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนยต้องมากกว่า 8.25 % และปริมาณโปรตีนในน้ำนมต้องมากกว่า 2.8 % และต้องได้มาตรฐานด้านจุลินทรีย์ของนมพาสเจอร์ไรส์ และสุดท้ายคือฐานการขนส่งไปยังผู้บริโภค โดยต้องตรวจสภาพทั่วไปของรถที่มารับนมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความสะอาด และเช็คอุณหภูมิรถขนส่งซึ่งจะต้องมีอุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส เมื่อผ่านตามที่กำหนดจึงลำเลียงนมที่ผ่านการพาสเจอไรส์ขึ้นรถเพื่อนำส่งต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่าผู้รับจะได้รับนมพาสเจอร์ไรส์ที่มีคุณภาพ สด สะอาด และปลอดภัยอย่างแท้จริง โดยในทุก ๆ วัน จะเริ่มทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมงหรือจนกว่าจะเสร็จงาน ซึ่งนมที่แปรรูปพาสเจอไรส์ ส่วนหนึ่งก็ยังมีจำหน่ายที่หน้าโรงงานแปรรูปนมนี้อีกด้วย

น้องมอน และนางสาว อนุสรา ศาลางาม นักศึกษาชั้นปวช.3 สาขาวิชาพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ เล่าว่า ได้เรียนรู้การปลูกพืชปลอดภัยในโรงเรือนอัจฉริยะจากครูกุลภรณ์ กุณรักษ์ ครูสาขาวิชาพืชศาสตร์ โดยโรงเรือนอัจฉริยะนี้มีขนาดกว้าง 6.5 เมตร ยาว 18 เมตร เน้นการปลูกเมล่อนและแตงโม เพราะใช้ระยะเวลาในการปลูกสั้นประมาณ 60 – 65 วัน ได้ผลผลิตดี และได้ราคา สามารถควบคุมการให้น้ำผ่านระบบแอปพลิเคชันโดยการตั้งเวลา ซึ่งการให้น้ำจะมีทั้งระบบน้ำหยดและแบบพ่นหมอก โดยขั้นตอนการปลูกเริ่มจากเพาะเมล็ดให้ได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์อายุ 8-10 วัน จากนั้นย้ายต้นกล้าลงปลูกในดินที่เตรียมไว้ในถุงปลูก หลังจากปลูกได้ 10 วัน จะเริ่มเด็ดแขนงด้านข้างที่งอกออกมา เมื่อเมล่อนอายุได้ 20 วัน ต้องคัดแขนงไว้ผสมเกสร คือแขนงข้อที่ 9-12 และรอวันผสมเกสร เมื่อเมล่อน อายุได้ 25 – 30 วัน จะสามารถผสมเกสรได้ หลังจากนั้น 35 - 40 วัน ลูกเมล่อนจะมีผิวตาข่ายละเอียด สามารถเขียนลายบนผิวของลูกเมล่อนได้ โดยผู้ที่สนใจสามารถเขียนลายเพื่อเป็นการสั่งจองผลผลิตล่วงหน้าได้ โดยหลังจากเขียนลายบนผิวเมล่อนแล้ว รอเวลาประมาณ 20 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวเมล่อนส่งให้ผู้บริโภคได้ ทั้งนี้ ตารางการปลูกเมล่อนในรอบ 1 ปี สามารถปลูกเมล่อนได้ถึง 4 รอบ คือ รอบที่ 1 กรกฎาคม ถึง กันยายน รอบที่ 2 พฤศจิกายน ถึง มกราคม รอบที่ 3 มกราคม-มีนาคม และรอบที่ 4 คือ เมษายน ถึง มิถุนายน

อาชีวะเกษตรบุรีรัมย์ Farmstay ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ใกล้กับสนามช้าง อารีน่า สเตเดี้ยม เพียง 3.7 กม. แวดล้อมด้วยธรรมชาติอันร่มรื่น ซึ่งผู้เข้าพักจะได้สัมผัสวิถีชีวิตแบบบ้าน ๆ ได้เยี่ยมชมการทำเกษตรจากนักศึกษาอาชีวะเกษตร อาทิ การเลี้ยงวัว หมู ไก่ ปลา กบ การรีดนมวัว การแปรรูปนม การปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ การเพาะเห็ด การปลูกเมล่อนและแตงโมในฟาร์มอัจฉริยะ การปลูกข้าวโพดพันธุ์ฮอกไกโด และพันธุ์ทับทิมสยาม การปลูกพืชผักสวนครัว การปลูกพืชอินทรีย์ ตลอดจนการทำเกษตรพอเพียง ซึ่งการปลูกพืชในโรงเรือนอัจฉริยะและการปลูกนอกโรงเรือนมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานปลอดภัยเป็นไปตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices :GAP) ซึ่งผู้ที่เข้าเยี่ยมชมฟาร์มสามารถเรียนรู้และร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ภายในฟาร์มได้ ตลอดจนสามารถซื้อผลผลิตจากฟาร์มปลอดสารพิษเป็นของฝากได้อีกด้วย โดยห้องพักมีให้เลือกหลากหลายแบบมีบริการพร้อมอาหารเช้า เริ่มต้นที่ราคา 650 บาท (พักได้ 3 คน) มีบริการจัดเลี้ยง สัมมนา และนำเที่ยวด้วย สนใจติดต่อได้ที่โทร. 096-928-2632 หรือที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย