ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ กล่าวว่า สสส.ในฐานะผู้สนับสนุนให้มีระบบการดูแลสุขภาวะที่ดีด้วยตัวเองได้สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีบทบาทและเสริมประสิทธิภาพความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพของคนไทยในทุกระดับ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในแนวทางปฎิบัติด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อนำคนไทยปรับตัวเข้าสู่ “ชีวิตวิถีใหม่ วิถีชีวิตสุขภาวะ ทั้งการกิน ขยับ หลับสนิท เสริมเกราะภูมิคุ้มกันปกป้องตัวเองห่างไกลโรค และสามารถรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
การปรับตัวเข้าสู่ “ชีวิตวิถีใหม่ วิถีชีวิตสุขภาวะ ด้วยการขยันขยับ สม่ำเสมอด้วยการสร้างพื้นที่สุขภาวะเพื่อมีกิจกรรมทางกายที่บ้านเป็นแนวทางดูแลสุขภาพสร้างภูมิคุ้มกันห่างไกลโรคที่ดีได้ด้วยตัวเอง โดยอาจเริ่มจากการมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง หรือมีกิจกรรมที่เริ่มทำให้หัวใจเราเต้นแรง หายใจเร็วขึ้น เช่น เดินขึ้นบันได เดินเร็วหรือทำสวน หลังจากนั้นจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นกิจกรรมที่ทำให้หัวใจเต้นแรง หายใจหอบด้วยการออกกำลังกาย
การมีกิจกรรมทางกายที่บ้านนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์การออกกำลังกายที่มีราคาแพง และใช้สถานที่กว้างขว้าง แต่อยู่ที่ความสม่ำเสมอในการปฎิบัตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงหมดข้ออ้างในการขยับเพื่อสุขภาพ โดยสสส. จึงชวนทุกคนมาเริ่มต้นการปรับตัวเข้าสู่ “ชีวิตวิถีใหม่ วิถีชีวิตสุขภาวะ” ด้วยการใช้ “ยางยืด” รัดถุงแกงที่มีอยู่ก้นครัวของทุกบ้านมาสร้างเป็นอุปกรณ์ออกกำลังกายง่ายๆไม่ต้องซื้อหา แต่สามารถใช้ออกกำลังกายได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ พกพาได้สะดวก ซึ่งเป็นงานออกแบบและคิดค้นโดยหนึ่งในภาคีเครือข่ายของสสส. ศาสตราจารย์ ดร. เจริญ กระบวนรัตน์ ภาควิชาพลศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การใช้ยางยืดมาทำเป็นอุปกรณ์เริ่มจากการใช้ยางยืดจำนวน 4-5 เส้น มาร้อยต่อกันเป็นลักษณะเหมือนข้อโซ่ ความยาวประมาณ 60 ข้อ หรือถ้าหากต้องการให้มีแรงดึงกลับในขณะที่ยางถูกยืดออกมีความหนืดเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้เราต้องออกแรงดึงมากขึ้น ก็เพิ่มจำนวนยางในข้อโซ่หลายๆ เส้น ทั้งนี้สามารถดูวิธีการร้อยยางยืดที่ https://youtu.be/er-JNy1XyoM และชมท่าบริหารด้วยยางยืดโดยชวนสะแกน QR Code เรียนรู้ 12 ท่าบริหารร่างกายด้วยยางยืด
ยืดหดหมดเมื่อย เสริมสร้างกล้ามเนื้อแข็งแกร่ง
อาจารย์ ณัฐนรี กระบวนรัตน์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า ยางยืดมีคุณสมบัติพิเศษที่เรียกว่า“ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ (Stretch Reflex)” หรือแรงดึงกลับจากการถูกดึงให้ยืดออก เมื่อนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ออกกำลังกายจึงจัดอยู่ใน “การออกกำลังกายประเภทความต้านทาน (Resistance Exercise)” มีประโยชน์ในการบริหารร่างกายได้ทุกสัดส่วน ช่วยกระตุ้นระบบประสาทรับรู้ความรู้สึก (Sensory Nervous System) ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาและบำบัดรักษาระบบการทำงานของประสาทกล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ ข้อต่อและกระดูก ช่วยสร้างเสริมสุขภาพดี สามารถเป็นอุปกรณ์ขยับเหยียดยืดทุกชั่วโมง เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อบ่า ไหล่ จากการเพลิดเพลินกับการนั่งทำงานติดเก้าอี้เป็นเวลานานๆไม่ว่าจะนั่งทำงานที่บ้าน หรือที่ทำงาน รวมถึงคนที่ต้องยืนทำงาน ในท่าซ้ำๆ นานๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมทำลายสุขภาพ แถมการใช้ยางยืดยังช่วยลดความเครียดจากการทำงานอีกด้วย
อาจารย์ ณัฐนรี กล่าวว่า การใช้ยางยืดในกิจกรรมทางกาย หรือการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ และเอ็นข้อต่อ เพิ่มมวลกล้ามเนื้อให้กระชับและป้องกันการเสื่อมสภาพ รวมทั้งยังป้องกันและลดอาการเสื่อมสภาพของกระดูก เช่น ข้อเสื่อม กระดูกบาง กระดูกพรุน และช่วยป้องกันและลดอาการข้อติด ชะลอการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อ
สำหรับผู้ที่ต้องการลดพุง การออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์ยางยืดก็เป็นคำตอบที่ดีเพราะช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญและลดไขมันในร่างกาย ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหาร รวมทั้งช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพความมั่นคงในการเคลื่อนไหวเพิ่มความมั่นใจให้กับตนเอง และยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนโลหิตไปยังกล้ามเนื้อที่ได้รับการบริหารอีกด้วย
การออกกำลังกายด้วย “ยางยืด” นี้ ถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตามการมีสุขภาพที่ดี ไม่ได้เกิดจากการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว ซึ่งต้องแน่ใจว่าได้เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อีกทั้งหลีกเลี่ยงการดื่มสุราและงดสูบบุหรี่ไปด้วย เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงอยู่ตลอดเวลาเป็นภูมิคุ้มกันต่อสู้กับความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ไม่มีใครล้วงรู้ได้ว่าจะเกิดโรคภัยใหม่ๆ อะไรในอนาคต
สนใจข้อมูลดูแลสุขภาพตัวเอง คลิก FB: สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)