ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
กล่าวว่า โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) เป็นโครงการที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยให้แก่นิสิต นักศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก เพื่อผลิตผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม และวิชาการของประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้มีนักวิจัยระดับปริญญาเอกของไทยที่มีคุณภาพสูง และเกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย และสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 และปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 22 โดย วช. และ VISTEC จะร่วมสนับสนุนทุนนิสิตปริญญาเอกภายใต้ คปก. และ FTP โดยเริ่มจากผู้ได้รับทุน คปก. รุ่นที่ 22 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างนิสิตปริญญาเอกที่มีศักยภาพ และสามารถผลิตผลงานคุณภาพสูง ที่อยู่ในฐานข้อมูล Nature Index, ISI หรือ SCOPUS ในอันดับสูงสุดร้อยละ 10 (Tier 1) ส่งเสริมให้เกิดการนำความรู้ขั้นสูง สร้างแรงจูงใจ สู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าตอบโจทย์อุตสาหกรรมหลักของประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี เปิดเผยว่า สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ร่วมมือกับ วช. สร้างนักวิจัยระดับโลกที่รอบรู้ และมีความเป็นผู้นำ เพื่อบุกเบิกวิจัยวิทยาศาสตร์ใหม่ สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมและนำความรู้ไปขับเคลื่อนการพัฒนาความต้องการของประเทศที่ตอบโจทย์และสอดรับกับทิศทางระดับโลก ภายใต้โครงการ คปก. และ Frontier Talents program (FTP)
นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่า สถาบันการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี เริ่มก่อตั้งโดยกลุ่ม ปตท. และได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรวิจัยระดับปริญญาเอกคุณภาพสูงเทียบเท่าระดับสากล ที่จะช่วยสร้างสรรค์ผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0
Cultivate nature global leaderCreate New Frontier Science and TechnologyContribution to National Demands and Global Challenge
โดยสถาบันมุ่งเน้นพัฒนางานวิจัยชั้นแนวหน้าในด้าน Advanced Functional Materials, Energy, Biotechnologies และ Digital Technologies เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (First S-curve และ New S-curve)
“ในยุคปัจจุบันที่นวัตกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุก ๆ ด้าน ประเทศไทยจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง เปลี่ยนจากประเทศผู้ใช้ มาเป็นผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของกลุ่ม ปตท. ที่ได้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำทรัพยากรของทั้งสองหน่วยงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสร้างและพัฒนานักวิจัยคุณภาพ ควบคู่กับการส่งเสริมบุคลากรให้มีความมุ่งมั่นก้าวไปสู่อาชีพนักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าต่อไป” ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส กล่าวทิ้งท้าย