สมาชิกของสหกรณ์การเกษตรผสมผสานสกลนคร จำกัด มีการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการ ขยายผลการทำเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี มุ่งเน้นการผลิตพืชผักที่ปลอดภัย และนำไปสู่การพัฒนา เกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ทั้งด้านการให้ความรู้ด้านการพัฒนามาตรฐานสินค้าและแหล่งเงินทุน โดยกลุ่มดังกล่าวมีแนวคิดหลักที่จะทำอาชีพเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิด เพื่อสุขภาวะที่ดีของตนอง ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมของชุมชน พร้อมทั้งได้เป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนสกลนคร จนมีความเจริญก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน และมีสัจจะร่วมกันที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนสกลนครอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ นายนนทกรได้บริหารจัดการพื้นที่เกษตร 100 ไร่ โดยทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน ปลูกพืชที่หลากหลาย อาทิ ไม้สัก ปลูกข้าวหอมมะลิ และข้าวกข 6 ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ ลิ้นจี่ มะละกอ สับปะรด กล้วยน้ำว้า ผักสลัด พืชผักสวนครัว สมุนไพร ผักหวาน ไผ่กิมซุง และมีแปลงหญ้าเนเปียร์/กินนี 20 ไร่ เลี้ยงโคและมีสระน้ำเลี้ยงปลา จำนวน 7 บ่อ ผลผลิตที่ได้นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กล้วยน้ำหว้านำไปแปรรูปเป็นกล้วยตาก กล้วยอบ และผงกล้วยที่สามารถช่วยเรื่องกรดไหลย้อน การแปรรูปข้าว เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวฮาง จมูกข้าวฮางชงพร้อมดื่ม และทำน้ำเสาวรส เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคที่รักสุขภาพและชาวบ้านในพื้นที่ด้วย
"การทำเกษตรอินทรีย์ เป็นนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนอยู่แล้วโดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรปลอดภัย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งต้องสอดคล้องกับการใช้ระบบตลาดนำการผลิต เช่น สวนอินทรีย์ผสมผสานของสมาชิกสหกรณ์ในจังหวัดสกลนครที่ได้มาเยี่ยมชมวันนี้ ทำให้เห็นว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์ยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ปลูกเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย และยังมีโครงการต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐสามารถเข้าไปดูแลและช่วยเหลือ และผลักดันให้พี่น้องเกษตรกรสามารถก้าวเดินและพัฒนาต่อไปได้เร็วมากขึ้น เพราะเกษตรกรนั้นถือเป็นกำลังหลักและเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนของประเทศไทยที่ต้องผลักดันให้เป็นครัวโลกในอนาคต " นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ กล่าว
ปัจจุบันสินค้าเกษตรของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรผสมผสานสกลนคร จำกัด ได้รับมาตรฐาน SDGs PGS และมีรายได้เฉลี่ย 80,000 -100,000 บาท/เดือน หรือ 1,000,000 บาท/ปี ยึดหลักการตลาดนำการผลิต และมีช่องทางการจำหน่าย4 ช่องทาง ได้แก่ 1) ตลาด Modern Trade ได้แก่ Tops market สาขาโรบินสัน ไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ สกลนคร เป็นสินค้าประเภทพืชผักสวนครัว เป็นการฝากขาย ส่งสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รายได้ 2,000 บาท/สัปดาห์ 2) โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย และจำหน่ายในจุดจำหน่ายที่โรงพยาบาล 3) Organic farm outlet อุทยานบัว ณ อุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร 4) งานแสดงสินค้าต่าง ๆ เช่น งานเกษตรแฟร์/ ตลาดนัดสินค้าเกษตร/ตลาดประชารัฐ ฯลฯ ซึ่งผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์ขณะนี้ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด