ณ ห้องประชุมพลายชุมพล โรงแรมสองพันบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานในงานแถลงข่าวและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อคนทั้งมวล จังหวัดสุพรรณบุรี และพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จัดโดย อพท.7 ซึ่งมีผู้แทนองค์กรทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมลงนามความร่วมมือ จำนวน 17 องค์กร
อาทิ จังหวัดสุพรรณบุรี, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานสุพรรณบุรี, มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล, องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี, โรบินสัน สุพรรณบุรี, และหอการค้าจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น เพื่อร่วมกันส่งเสริม และปรับปรุงพัฒนาตึกอาคาร สถานที่ แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร จุดแวะพัก และบริการที่เกี่ยวข้อง ในจังหวัดสุพรรณบุรี และพื้นที่เชื่อมโยง ให้มีอารยสถาปัตย์ (Friendly Design) หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้พักฟื้นสุขภาพ ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก และคนที่ใช้รถเข็น เช่น ทางลาด ที่จอดรถ ห้องสุขาอารยสถาปัตย์ และป้ายสัญลักษณ์เฟรนด์ลี่ดีไซน์ เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มวัย และทุกสภาพร่างกาย ให้สามารถเข้าถึงได้ และใช้บริการต่างๆได้ โดยสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย เป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม เพื่อยกระดับและต่อยอดการพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรีสู่เมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อคนทั้งมวล
นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญมากมาย เช่น พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ พระพุทธรูปแกะสลักภูผาใหญ่ที่สุดในโลก ที่วัดเขาทำเทียม อ.อู่ทอง วัดเขาดีสลัก หลวงพ่ออู่ทอง ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง-มังกรสวรรค์ เป็นต้น ซึ่งหากมีการพัฒนา ปรับปรุงความพร้อมด้านอารยสถาปัตย์ในแหล่งท่องเที่ยว จะเป็นการขยายโอกาสทางการท่องเที่ยวไปสู่คนทั้งมวล สามารถรองรับการท่องเที่ยวแบบไร้อุปสรรค สอดรับการแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของรัฐบาล และองค์การสหประชาชาติ
ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดสุพรรณบุรีมีความยินดี ร่วมพัฒนาอาคารสถานที่ราชการ รวมถึงส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆให้มีอารยสถาปัตย์ ซึ่งจะยังประโยชน์ให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสุขภาพร่างกาย ให้สามารถเข้าถึง และใช้บริการต่างๆ ได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และเสมอภาคเท่าเทียม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข ให้แก่คนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้พิการที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆใน จ.สุพรรณบุรี ได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของ อพท.คือ การใช้กลไกการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างความสุข ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม อพท. มีภารกิจในด้านการประสาน ส่งเสริม สนับสนุน เพื่อบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้เกิดความยั่งยืน โดยดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๑ –๒๕๘๐) ซึ่งมีกรอบแนวคิดที่สำคัญด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม
และแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๖๐ –๒๕๖๔) ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่งเสริมการเข้าถึง และรองรับการท่องเที่ยวที่ปราศจากอุปสรรคเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ทั้งนี้ อพท. เชื่อมั่นว่าเครือข่ายความร่วมมือที่ร่วมลงนามในวันนี้ จะเร่งพัฒนาตัวเอง สร้างความรู้ความเข้าใจ และจัดให้มีการท่องเที่ยวที่มีความพร้อมด้านอารยสถาปัตย์ (Friendly Design) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามข้อตกลงร่วมกัน ๓ ประการคือ
ข้อ ๑ เพื่อร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และประสานความร่วมมือในหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน ในจังหวัดสุพรรณบุรี ให้มีการจัดการการท่องเที่ยวที่มีความพร้อมด้านอารยสถาปัตย์ (Friendly Design) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All)
ข้อ ๒ เพื่อร่วมสร้างเครือข่ายความร่วมมือในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อการพัฒนาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวสถานบริการ ในจังหวัดสุพรรณบุรี ให้มีความพร้อมด้านอารยสถาปัตย์อย่างยั่งยืน
ข้อ ๓ เพื่อร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้สถานประกอบการ สถานบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดสุพรรณบุรี ให้มีความพร้อมด้านอารยสถาปัตย์ (Friendly Design) เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All)
นายณัฐปคัลภ์ อัครวิชญ์ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุพรรณบุรี กล่าวว่า การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล หรือ Tourism for All เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีการสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีโครงการที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้พิการและผู้สูงอายุได้ออกมาเปิดประสบการณ์เดินทางท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่พร้อมด้วยอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล (Friendly Design) ทุกภูมิภาคในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น
เส้นทางภาคกลาง ภายใต้ Concept “More Legacy” ณ จังหวัดราชบุรีเส้นทางภาคตะวันออก ภายใต้ Concept “More Fun” ณ จังหวัดชลบุรีเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้ Concept “More Gastronomy” ณ จังหวัดเลยเส้นทางภาคเหนือ ภายใต้ Concept “More Authentic” ณ จังหวัดเชียงรายและเส้นทางภาคใต้ ภายใต้ Concept “More Inspired” ณ จังหวัดพังงา
การร่วมลงนามในครั้งนี้ ททท. โดย การท่องเที่ยวสำนักงานสุพรรณบุรี มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมขับเคลื่อน การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อคนทั้งมวลภายในจังหวัดสุพรรณบุรี และพื้นที่เชื่อมโยง ให้เป็นอีกหนึ่งเส้นทาง Tourism for All เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยให้ให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป พร้อมบูรณาการร่วมกับโครงการ Amazing Thailand Safety and Health Administration (SHA) เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ดี มีความสุข และมั่นใจในความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ปลอดภัยจากการแพร่ระบายของโรคไวรัส COVID – 19
นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี เขต ๑ และผู้บริหาร PPT Station สาขาเลี่ยงเมืองสุพรรณบุรี กล่าวว่า อารยสถาปัตย์ มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับคนทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักพื้น ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ และเด็กเล็ก ช่วยให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้สะดวก ปลอดภัย ปตท.หลักเมือง เลี่ยงเมือง สุพรรณบุรี by Lak Muang Group มีความใส่ใจอารยสถาปัตย์หรือ Friendly Design
โดยได้จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ที่จอดรถวีลแชร์ ทางลาด ห้องน้ำ Friendly Design รวมถึงป้ายสัญลักษณ์ ซึ่งจะทำให้ทุกคนสามารถใช้บริการภายในปั๊มน้ำมันได้อย่างสะดวก และปลอดภัย เราจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลสามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในจังหวัดสุพรรณบุรี
นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ อพท.และองค์กรพันธมิตร ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนและส่งเสริมอารยสถาปัตย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อคนทั้งมวลที่ จ.สุพรรณบุรี และพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในครั้งนี้
ที่ผ่านมามูลนิธิอารยสถาปัตย์ฯ ได้ดำเนินงาน รณรงค์ ส่งเสริม สร้างความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่อง “อารยสถาปัตย์” (Friendly Design) และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) เพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยพักพื้น สตรีมีครรภ์ และเด็กเล็ก สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้สะดวก ปลอดภัย อย่างทั่วถึง เท่าเทียม ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ให้เกิดการตื่นตัวในการพัฒนาและสร้างทำอารยสถาปัตย์ ทั้งในและต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง
การลงนาม MOU ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจาก องค์กรภาครัฐ-ภาคเอกชน ภาคประชาชนเป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นว่าชาวสุพรรณบุรีเห็นคุณค่าและความสำคัญของอารยสถาปัตย์และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล และพร้อมที่จะขับเคลื่อนจังหวัดสุพรรณบุรี และพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาสู่เมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อคนทั้งมวลต่อไป
ทั้งนี้รายชื่อ 17 องค์กร ประกอบด้วย จังหวัดสุพรรณบุรี องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) การท่องเที่ยวสำนักงานสุพรรณบุรี มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ปตท.หลักเมือง เลี่ยงเมือง สุพรรณบุรี by Lak Muang Group สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี โรงแรมสองพันบุรี โรบินสัน สุพรรณบุรี สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี หอการค้าจังหวัดสุพรรณบุรี สมาคมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการไทย เครือข่ายทูตอารยสถาปัตย์จังหวัดสุพรรณบุรี