ศัลยแพทย์จากศูนย์ศัลยกรรม รพ. กรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า โดยส่วนใหญ่โรคเกี่ยวกับตับมักเกิดกับเพศชาย อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง อาทิ การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การสังเกตตัวเองว่าตับมีความผิดปกติหรือไม่จะค่อนข้างยาก เนื่องจากถ้าตัวโรคยังเป็นไม่มากมักไม่ค่อยแสดงอาการ อาการที่สังเกตได้ก็ต่อเมื่อมีความเสื่อมของตับไปพอสมควรแล้ว เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้ ยังมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องผูกเป็นประจำ บางคนมีอาการเจ็บในตำแหน่งตับคือ บริเวณใต้ชายโครงด้านขวา และถ้าเป็นมากขึ้นก็จะมีอาการคือ ท้องโต เนื่องจากมีน้ำในช่องท้อง ปัสสาวะสีเข้มแม้จะดื่มมากแค่ไหนสีก็ไม่จางลง ตามมาด้วยอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ส่วนหนึ่งของความผิดปกติ คือ การเกิดก้อนเนื้อในตับมีทั้งเนื้องอกและซีสต์ เมื่อตรวจพบแล้วจะมีการตรวจยืนยันการวินิจฉัยโรคด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ทราบว่าเป็นเนื้อดีหรือเนื้อร้าย หากพบว่าเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งจะทำการผ่าตัดทันที
แต่เดิมการผ่าตัดตับเป็นเรื่องอันตราย และมีภาวะแทรกซ้อนสูง รวมทั้งต้องเปิดแผลใหญ่ใต้ชายโครงขวา แต่ในปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ จึงสามารถทำการผ่าตัดผ่านกล้องด้วยเทคโนโลยี 4K UHD หรือผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก 3 มิติ (Advanced 3D Laparoscopic surgery) ที่ให้ความคมชัดของภาพสูง ช่วยให้ศัลยแพทย์เห็นอวัยวะภายในช่องท้องได้ชัดเจนขึ้น ประกอบกับความชำนาญของทีมแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้อง ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก คนไข้หายเร็วและอยู่โรงพยาบาลสั้นลง ล่าสุดมีการพัฒนาด้านการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ (robotic surgery) ในอวัยวะที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดตับ หรือในกรณีที่ตับมีความเสียหายรุนแรงจนไม่สามารถผ่าตัดได้ ก็สามารถทำการรักษาโดยการเปลี่ยนตับจากผู้บริจาค
ปัจจุบันสถานการณ์ของโรคมะเร็งตับอ่อนจะคล้ายกับมะเร็งตับ แต่ความรุนแรงของมะเร็งตับอ่อนจะมากกว่าและมักพบในระยะลุกลาม โดยที่มะเร็งตับอาจตรวจพบได้ในระยะแรกๆ จากการตรวจสุขภาพประจำปีหรือตรวจ screening ของภาวะตับอักเสบ ในผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนพบว่า ประมาณ 50% ของคนไข้ที่มาพบแพทย์มักเกิดการกระจายของโรคไปมากแล้ว อีก 50% ที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย พบว่าสามารถผ่าตัดรักษาได้เพียง 25-30% ซึ่งการผ่าตัดรักษาเพื่อหวังผลหายขาดอาจมีการให้เคมีบำบัดหรือฉายแ สงรักษาร่วมด้วย ดังนั้น การตรวจพบโรคในระยะแรกเป็นสิ่งสำคัญ การตรวจสุขภาพประจำปีถือเป็นตัวช่วยคัดกรองความเสี่ยงช่วยค้นพบโรคในระยะเริ่มต้นหรือหากพบภาวะตับผิดปกติก็จะช่วยเพิ่มโอกาสของการรักษา รวมถึงอัตราการรอดชีวิตก็จะสูง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ พันธุกรรม
หากมีคนในครอบครัวมีประวัติมาก่อน ควรเข้ารับการตรวจตับอ่อนด้วยอัลตราซาวนด์ (ultrasonography)และตรวจเลือด การผ่าตัดรักษาโรคตับและตับอ่อนสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง หรือผ่าตัดผ่านกล้อง ขึ้นยู่กับความเหมาะสมของตัวโรคและคนไข้ โดยอาจมีการใช้สารทึบแสง (Indocyanine green : ICG) เพื่อตรวจเช็กตำแหน่งของก้อนเนื้อว่าอยู่ส่วนไหน รวมถึงดูอวัยวะข้างเคียงที่สำคัญ อาทิ เส้นเลือด ท่อน้ำดี หรือต่อมน้ำเหลืองรอบๆ บริเวณที่ได้รับการรักษา ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ประกอบการทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างสหสาขาวิชา มีการประชุมวางแผนเพื่อเตรียมผู้ป่วยทั้งก่อน ระหว่างและหลังการผ่าตัด รวมถึงศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญร่วมกับความพร้อมของเทคโนโลยี เครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อการผ่าตัดมีประสิทธิภาพและได้ผลการรักษาที่ดี
ข้อมูลโดย : นพ.สมสิทธิ์ ตันเจริญ ผศ.นพ.สุปรีชา อัสวกาญจน์ และ พ.อ.รศ.นพ.ธัญญ์ อิงคะกุล ทีมศัลยแพทย์ด้านผ่าตัดผ่านกล้องโรคตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดี ศูนย์ศัลยกรรม รพ.กรุงเทพ