รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนพฤษภาคม 2563

พุธ ๐๘ กรกฎาคม ๒๐๒๐ ๑๓:๕๓
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ

(สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ในเดือนพฤษภาคม 2563 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือนเมษายน 2563 มากนัก ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID – 19) จะได้ลดความรุนแรงลงไปบ้างแล้วก็ตาม โดยในเดือนพฤษภาคม 2563 มีจำนวนผู้สนใจยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิ 1,199 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2563 จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย ผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สุทธิ (มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี (Effective rate)) จำนวน 1,042 ราย และผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสุทธิ (มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 36 ปี (Effective rate) สำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาทแรก และสำหรับวงเงินสินเชื่อที่เกินกว่า 50,000 บาทเป็นต้นไป ให้เรียกเก็บได้ไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี (Effective rate)) จำนวน 157 ราย และมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 จนถึง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 มีนิติบุคคล ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,335 ราย ใน 76 จังหวัด (จังหวัดที่ยังไม่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อ ได้แก่ จังหวัดอ่างทอง) โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (112 ราย) กรุงเทพมหานคร (109 ราย) และขอนแก่น (66 ราย) ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีจำนวนนิติบุคคลที่แจ้งคืนคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์รวมทั้งสิ้น 136 ราย ใน 53 จังหวัด จึงคงเหลือจำนวนนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิ 1,199 ราย ใน 75 จังหวัด และมีจำนวนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิ 891 ราย ใน 73 จังหวัด (ขอคืนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์จำนวน 21 ราย และขอเปลี่ยนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เป็นประเภทพิโกพลัส จำนวน 46 ราย) ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท ที่แจ้งเปิดดำเนินการแล้ว 749 ราย ใน 71 จังหวัด และมีรายละเอียด ดังนี้

(1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 1,042 ราย ใน 75 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 5 ราย จากเดือนเมษายน 2563) โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (96 ราย) นครราชสีมา (94 ราย) และขอนแก่น (62 ราย) ตามลำดับ มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สุทธิทั้งสิ้น 815 ราย ใน 73 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 699 ราย ใน 71 จังหวัด (ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2563 มีจำนวนผู้เปิดดำเนินการให้บริการสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ที่เปลี่ยนเป็นการให้บริการสินเชื่อประเภทพิโกพลัส จำนวน 2 ราย)

(2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 157 ราย ใน 54 จังหวัด ประกอบด้วยนิติบุคคลที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เดิมและเปิดดำเนินการแล้วมายื่นขอเปลี่ยนใบคำขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสจำนวน 83 ราย ใน 38 จังหวัด และเป็นนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตใหม่จำนวน 74 ราย ใน 29 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (18 ราย) กรุงเทพมหานคร (13 ราย) และอุบลราชธานี (10 ราย) และมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัส 76 ราย ใน 29 จังหวัด (เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2563 จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ราชบุรี และนครศรีธรรมราช) และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 50 ราย ใน 25 จังหวัด (เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2563 จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร และนครศรีธรรมราช)

(3) ยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมและยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

(3.1) ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 254,890 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 6,745.02 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 26,462.47 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 125,773 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,589.15 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 53.21ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 129,117 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,155.87 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.79 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม เพิ่มขึ้นจากยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 เพียงร้อยละ 2.35 ซึ่งเหตุผลหลักอาจเนื่องมาจากผู้ประกอบการยังคงมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงของการเพิ่มขึ้นของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

(3.2) ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างสะสมรวมจำนวนทั้งสิ้น 105,689 บัญชี

คิดเป็นจำนวนเงิน 2,591.32 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 - 3 เดือน สะสมรวมจำนวน 15,708 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 394.61 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.23 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 14,928 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 399.44 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.41 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม เพิ่มขึ้นจากยอดสะสม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 ที่มียอด NPL อยู่ที่ร้อยละ 13.06

การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย ในเดือนพฤษภาคม 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) เพื่อปราบปรามและดำเนินคดีในเชิงรุกอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่มีพฤติการณ์ให้ประชาชนกู้ยืมเงินโดยผิดกฎหมาย เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การทวงถามหนี้โดยผิดกฎหมาย การกู้ยืมเงินที่มีลักษณะฉ้อโกงประชาชน สำหรับผลการดำเนินการจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำความผิดของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 มีจำนวนสะสมรวมทั้งสิ้น 5,512 คน

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องใน 5 มิติ ได้แก่ (1) ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย (2) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ (3) ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย (4) เพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ และ (5) สนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่

- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599

- ศปน.ตร. โทร. 0 2255 1898

- ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์การกู้ยืมเงินโดยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สายด่วน 1155

- ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567

- ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359

- ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.)

โทร. 0 2575 3344

โดยมีรายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ

สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน

โทร. สายด่วน 1359

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ