นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ตลาดข้าวมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศมีการพัฒนาศักยภาพในการผลิตข้าวเพื่อบริโภคภายในประเทศ และสามารถส่งออกจนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในขณะที่หลายประเทศสามารถปลูกข้าวได้ปริมาณมาก แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ ประเทศไทยถือเป็นผู้นำการส่งออกข้าวของโลกมาหลายปี แต่ในช่วงปี 2559 - 2562 ประเทศไทยปริมาณการส่งออกข้าวไทยที่ลดลง ประกอบกับต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันในเรื่องของราคากับประเทศส่งออกคู่แข่งต่างๆ อาทิ ประเทศอินเดีย เวียดนาม กัมพูชา และพม่า เป็นตั้น ดังนั้นประเทศไทยจึงควรพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีความแตกต่างทั้งในเรื่องของความโดดเด่นของพันธุ์ข้าว ความหอม รสชาติ ผลผลิต รวมไปถึงเทคโนโลยีการผลิตที่สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวให้กับเกษตรกรได้
นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่าว่า กรมการข้าวได้กำหนดจัดงาน"การประกวดข้าวเพื่อรองรับและส่งเสริมการส่งออกของตลาดข้าวโลก ประจำปี 2563" ในวันที่ 16 – 17 กรกฎาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ที่จะเป็นอีกกลไกหนึ่งในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย เกษตรกร และผู้เกี่ยวข้อง
ที่ปฏิบัติงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีขบวนการพัฒนาและส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์ให้ตรงพันธุ์ตั้งแต่ตันน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมรวบรวมและผลิตเมล็ดพันธุ์ สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ฯลฯ มาร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้นโยบายการตลาดนำการผลิต
ให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ที่แน่นอน มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้ทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ โดยประสานความร่วมมือให้เกิดความเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า การจัดงานดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยให้เกิดการถ่ายทอดพร้อมประชาสัมพันธ์การพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อรองรับและส่งเสริมการส่งออกข้าวสู่ตลาดโลก นำไปสู่แนวทางการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาดข้าวไทยของผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศ
ซึ่งภายในงานได้จัดนิทรรศการประกวดข้าวที่โดดเด่น 5 ประเภท ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอมไทย ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวเหนียว เพื่อรองรับการส่งออกของตลาดข้าวโลกและใช้เป็นฐานข้อมูลรองรับการประกวดข้าวโลกในแต่ละปี อีกทั้งการจัดงานดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ในการเพิ่มแนวคิดมุมมองทางด้านกำลังการผลิต ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับงานวิจัยทางด้านข้าว และยังเป็นการเชื่อมโยงพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยด้านต่างๆ ที่จะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ ให้มีโอกาสเผยแพร่สู่สาธารณชน ก่อให้เกิดการนำไปใช้อย่างแพร่หลายและให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งยังเป็นการแสดงภาพลัษณ์และผลงานที่ดีของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย