นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ ตามนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการขยายการลงทุนด้านอุตสาหกรรมของภาคเอกชน และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ของรัฐบาล จะทำให้มีมูลค่าการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ปริมาณกากอุตสาหกรรม หรือของเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรม จะเพิ่มขึ้นจาก 22 ล้านตันต่อปีในปัจจุบัน เป็น 25-28 ล้านตันต่อปีในปี 2565 ซึ่งกากอุตสาหกรรมเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง จำเป็นต้องกำจัดอย่างถูกต้องตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม
ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งกำกับดูแลด้านการรักษาสิ่งแวดลอม จึงมีนโยบายที่จะสนับสนุนแนวทางการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste-to-Energy) ด้วยการนำ กากอุตสาหกรรม ไปทำเป็น เชื้อเพลิงอัดก้อน Refuse Derived Fuel(RDF) สำหรับโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า และจำหน่ายเข้าระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ การไฟฟ้านครหลวง ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถกำจัดกากอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นการเปลี่ยนจากขยะอุตสาหกรรมเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลังงานจากน้ำมัน แก๊ส หรือถ่านหิน โดยปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีกากอุตสาหกรรมอยู่ถึงปีละ 22 ล้านตัน แบ่งเป็นกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายถึง 20.8 ล้านตัน สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงสร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมได้ถึง 2,000 เมกะวัตต์
ทาง กนอ. กำลังเตรียมเสนอแนวทางแก่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ เพื่อเสนอให้เพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม จากปัจจุบัน 75 เมกกะวัตต์ เป็น 2,000 เมกกะวัตต์ เนื่องจากแนวทาง Waste-to-Energy นี้สามารถดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ยั่งยืน และช่วยให้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างราบรื่น โดยแบ่งเฟสละ 500 เมกกะวัตต์ขึ้นไป สำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมนั้น จะต้องสร้างในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการควบคุมดูแลการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ประเทศไทยจำแนกของเสียออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ของเสียจากชุมชนหรือขยะชุมชน กากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือขยะอุตสาหกรรม โดย
ขยะอุตสาหกรรม แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
ขยะอุตสาหกรรมอันตรายขยะอุตสาหกรรมไม่อันตราย
ขยะชุมชน แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ขยะย่อยสลายขยะรีไซเคิลขยะทั่วไปขยะอันตราย
ซึ่งในปัจจุบันปริมาณขยะในประเทศไทยโดยรวมเฉลี่ยปริมาณขยะทั้งหมด 49.8 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นขยะชุมชน 27.8 ล้านตันต่อปี และขยะอุตสาหกรรม 22 ล้านตันต่อปี เป็นขยะอุตสาหกรรมไม่อันตราย 20.8 ล้านตันต่อปี และขยะอุตสาหกรรมอันตราย 1.2 ล้านตันต่อปี