นักวิชาการ ม.อ. แนะโมเดลพลิกฟื้นเศรษฐกิจใต้รับยุค New Normal ชูเทคโนโลยีขับเคลื่อนฐานราก หนุนวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง

ศุกร์ ๑๐ กรกฎาคม ๒๐๒๐ ๑๐:๕๓
นักวิชาการ ม.อ. แนะโมเดลพลิกฟื้นเศรษฐกิจใต้รับยุค New Normal ชูเทคโนโลยีขับเคลื่อนฐานราก หนุนวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง ปักธงสร้างจุดขายท่องเที่ยวรับ Medical Tourism

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ระดมนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ทั้ง 5 วิทยาเขต เสนอโมเดลพลิกฟื้นเศรษฐกิจใต้หลัง COVID-19 รับยุค New Normal ชูเศรษฐกิจฐานรากต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชน สร้างสมดุลรายได้สินค้าเกษตรและรายได้ภาคอุตสาหกรรมบริการท่องเที่ยว ผ่านเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนทุกธุรกิจทุกภาคส่วน เน้นสร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยวกลุ่ม Medical Tourism เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว วิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจภาคใต้ขับเคลื่อนผ่าน 4 กลุ่มหลักได้แก่ ภาคบริการการท่องเที่ยว การเกษตร การค้าและการผลิต และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยว โดยผู้ประกอบการโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร ต้องหยุดกิจการจากมาตรการ Lock Down ซึ่งประเมินความเสียหายจากการใช้โมเดลเศรษฐศาสตร์ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ พบว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ภาคการท่องเที่ยวได้รับความเสียหายกว่า 127,000 ล้านบาท โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตเกิดความเสียหายถึง 65,000 ล้านบาท เป็นผลให้ GPP ของจังหวัดในปีนี้ คาดว่าจะหดตัวถึงร้อยละ 20 ถือว่ารุนแรงกว่าช่วงที่เกิดเหตุการณ์สึนามิที่ GPP หดตัวไป 15%

“Covid-19 กระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวภาคใต้ บางรายต้องปิดกิจการหรือต้องลดคนเพื่อประคับประคองธุรกิจให้ผ่านวิกฤตไปได้ ส่งผลให้ภาคแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภาคใต้ มีรายได้หายไปเฉลี่ย 12,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งจะกระทบกับการบริโภคต่อไปในอนาคต” ดร.ชยานนท์ กล่าว

ทั้งนี้ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจของภูเก็ต ต้องนำจุดแข็งด้านการป้องกันการแพร่ระบาดโรคที่ประเทศไทยทำได้ดี มาเป็นจุดขายเปิดรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามารักษาพยาบาล (Medical Tourism) นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและโรงแรมจำนวนมาก ทำให้จังหวัดภูเก็ต มีศักยภาพก้าวสู่การเป็นฮับ work from Hotel เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจจากบริษัทข้ามชาติได้

ผศ.ดร.วีระศักดิ์ คงฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิจัย วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ม.อ. กล่าวว่า ภาคเกษตรกรรมและภาคการผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าเกษตร ยางพารา อาหารทะเล น้ำมันปาล์มดิบ ในเขตภาคใต้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าสาขาอื่น และยังมีโอกาสที่ดีในการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พืชผลการเกษตร ได้แก่ การนำยางพาราไปผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข เช่น การผลิตถุงมือยางเพื่อใช้ในการแพทย์ กลุ่มสินค้าอาหารทะเลกระป๋อง ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีจากความต้องการเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศยุโรป

ส่วนธุรกิจการท่องเที่ยวนั้น มองว่าพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบเฉพาะเจาะจงที่เป็นรายบุคคล แทนการเดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์จากความกังวลการติดเชื้อ ทำให้ต้องเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ดังนั้นการให้บริการจะเน้นความเป็นส่วนตัว ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและภาคบริการ ต้องสร้างความเชื่อมั่นถึงสุขอนามัย ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมาใช้บริการ

ผศ.ดร.จรีรัตน์ รวมเจริญ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบริการวิชาการ วิทยาเขตปัตตานี ม.อ. กล่าวว่า COVID-19 ทำให้ประชาชนหันมาสร้างกลไกภูมิคุ้มกันเพื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น โดยให้ความสำคัญของเศรษฐกิจฐานรากมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตนเอง จากการศึกษาหาทักษะเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตเพิ่มเติม เช่น การทำธุรกิจออนไลน์ ที่คาดว่าได้รับนิยมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำให้เกิดวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็งและสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจชุมชนต่อไปในระยะยาว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ