โรคอาหารเป็นพิษ จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อุจจารุเป็นน้ำหรือเป็นมูกเลือด ปวดมวนท้อง เป็นไข้ สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดพิษจะพบอาการทางระบบประสาท เช่น เดินเซ สับสน ประสาทรับรู้สัมผัสผิดปกติ ประสาทหลอน และช้า การรักษาเบื้องต้น ปฏิบัติได้โดยการดื่มน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์
การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” กล่าวคือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ดื่มน้ำต้มสุก (ต้มให้เดือดเป็นเวลา 20 นาที เพื่อทำให้เชื้อโรคตาย) อาหารค้างมื้อ หรือเก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร ก่อนหยิบจับอาหาร ก่อนหยิบจับวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงประกอบอาหาร หลังขับถ่าย หลังสัมผัสสิ่งสกปรก และกาiรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร ดื่มน้ำแข็งที่สะอาดมีเครื่องหมาย อย. วัตถุดิบ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบอาหารก่อนรับประทาน
อนึ่ง รายงานข่าวจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สถานการณ์โรคติดต่อทางอาหารและน้ำในปี 2563 พบว่ามีรายงานผู้ป่วยด้วย 5 โรคสำคัญที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 414,545 ราย เสียชีวิต 2 ราย โรคอาหารเป็นพิษ 40,973 ราย โรคบิด 1,108 ราย โรคไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย 220 ราย และอหิวาตกโรค 2 ราย โดยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสโปรโตซัว หนอนพยาธิฯ ผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดท้อง ถ่ายเหลว 3 ครั้งต่อวันหรือมากกว่า อุจจาระอาจพบเยื่อมูกและมีเลือดปน คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ในบางรายมีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น การป้องกันคือ ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ทั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก ในส่วนอาหารที่ปรุงประกอบไว้นานแล้ว ขอให้สำรวจก่อน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ ส่วนอาหารที่มีกลิ่น รส หรือรูปร่างไม่เปลี่ยนแปลงควรอุ่นให้ร้อนทั่วถึงก่อนรับประทาน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) จึงขอแนะนำให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหาร การปรุงอาหาร ให้คำนึงถึงความสะอาด ปลอดโรค ปลอดภัย ปราศจากการปนเปื้อน อาหารควรปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำและน้ำแข็งที่สะอาด (มีเครื่องหมาย อย.) เก็บถนอมอาหารอย่างถูกวิธี และก่อนหยิบจับอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และหากมีอาการข้างต้น สามารถช่วยเหลือเบื้องต้น โดยให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ให้รีบไปพบแพทย์ และควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เพื่อช่วยให้ลำไส้ฟื้นตัวได้เร็ว ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคยังอยู่ในร่างกาย หากใช้ยาปฏิชีวนะ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422