ผลงานที่เป็นลายเซ็นของ ลอง ลู เบียน มักนำเสนออารมณ์และความรู้สึกอย่างเปิดเผยและปราศจากการปรุงแต่ง จึงทำให้ผู้ชมรับรู้ได้ถึงจิตใจของเขาอย่างแท้จริง ทั้งนี้ลอง ลู เบียนไม่ได้รังสรรค์เทคนิคภาพ หากแต่เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกที่มาจากก้นบึ้งของจิตใจของเขาลงบนผืนผ้าใบ ผลงานของเขาในคอลเลกชันที่ชื่อว่า Fossils ในปี 2552 ได้นำเสนอภาพวาดมนุษย์ภายใต้บรรยากาศที่คับแคบและดูโหดร้าย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแปลกแยกและความอ้างว้าง สองความรู้สึกที่ลอง ลู เบียน เผยว่าเขาต้องเผชิญกับมันในช่วงวัยเด็กและวัยหนุ่ม ความกล้าในการถ่ายทอดให้เห็นถึงความสับสนและความเจ็บปวดภายในจิตใจทำให้ผลงานของลอง ลู เบียน น่าสนใจและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
สำหรับผลงานชุด Tribe of Loneliness ยังคงถ่ายทอดความโดดเดี่ยวและความแปลกแยกในสังคม แต่ทว่าภาพเขียนบางชิ้นอย่าง Private Corner และ The Way of Pilgrims นำเสนอความรัก ความอบอุ่น และอารมณ์ขัน ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตภายในจิตใจของลอง ลู เบียนในทศวรรษต่อมา อย่างไรก็ตามผลงานในคอลเลกชันนี้นำเสนอความตึงเครียดระหว่างความหวังและความสิ้นหวังภายในจิตใจมนุษย์ ลอง ลู เบียนกล่าวว่า “ภายในพื้นที่ส่วนตัวที่เงียบงัน และภายใต้สภาวะที่ผู้คนตะโกนร้องท่ามกลางความเหงา ผมได้สร้างสรรค์งานที่นำเสนอสภาพที่เต็มไปด้วยผู้คนที่รวมกันเป็นชุมชนและสังคม โดยสะท้อนมุมมองของใครบางคนที่กำลังหลีกหนีความเป็นตัวเอง และมุมมองของใครอีกหลายคนที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางหมู่มวลมนุษย์ในสังคม”
วิธีการสร้างสรรค์งานที่เป็นเอกลักษณ์ของลอง ลูเบียน ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือเขายังใช้เทคนิคการวาดภาพด้วยแลกเกอร์เพื่อสร้างงานสื่อผสมที่มีลักษณะคล้ายประติมากรรมบนผืนผ้าใบ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญระดับครูด้านการวาดภาพเชิงกายวิภาคศาสตร์ ลอง ลู เบียน นำเสนอภาพวาดคนเปลือยกายภายในโลกที่ไร้บริบทหรือสถานการณ์ใด ๆ มีเพียงแต่สีและอารมณ์เท่านั้น ลอง ลู เบียน กล่าวว่า “จังหวะหรือลักษณะของผลงานของผมได้ถูกถ่ายทอดผ่านร่างกายของผู้คน ผมยังคงสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบสื่อผสม พร้อมผสมผสานเทคนิคต่าง ๆ การจัดองค์ประกอบภาพ นอกจากนี้การใช้เส้นในภาพเขียนของผมยังคล้ายกับภาพวาดสีแลกเกอร์และภาพพิมพ์แกะสลัก ผมยังได้นำเทคนิคการลงสีบาง ๆ หลายชั้นมาประยุกต์ใช้อีกด้วย ซึ่งเป็นเทคนิคที่คล้ายคลึงกับการลงสีแลกเกอร์และการวาดภาพบนผ้าไหม”
สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นในคอลเลกชันล่าสุดของลอง ลู เบียน คือการที่เขาเลือกวาดรูปลงบนผืนผ้าใบที่ใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับผลงานในคอลเลกชันก่อนหน้านี้ รวมถึงการจัดเรียงของภาพสองภาพขนาดใหญ่ให้ใกล้กัน ดังเช่นภาพวาดในผลงานชุด Tribe of Loneliness ซึ่งเป็นสไตล์ที่เขารังสรรค์ขึ้นมาให้คล้ายคลึงกับสไตล์ภาพวาดในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) โดยในภาพเต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมากอยู่บนเวทีใหญ่ ลอง ลู เบียนกล่าวว่า “การจัดองค์ประกอบที่ใหญ่ขึ้นได้สะท้อนเสียงของคำถามในหัวของผมเกี่ยวกับความหมายของชีวิต ความหมายของอิสรภาพ และการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คน ที่มุ่งเน้นเรื่องพฤติกรรม การติดต่อสื่อสาร และความขัดแย้งท่ามกลางความต้องการในการบรรลุเป้าประสงค์ของพวกเขาในแต่ละวัน หรือไม่ก็มุ่งไปที่การชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดและความสับสนของกันและกัน ในขณะที่แต่ละคนเองต่างพยายามค้นหาวิถีทางสู่ความเป็นนิรันดร์ ความจีรังยั่งยืน และสัจธรรมตามความเชื่อทางศาสนา”
ผลงานคอลเลกชันล่าสุดอย่าง Tribe of Loneliness นำเสนออารมณ์และความรู้สึกที่สะท้อนความอ่อนแอและความโดดเดี่ยวของมนุษย์ โดยความรู้สึกของมนุษย์เปรียบเสมือนหน้าต่างที่นำพาคนดูเข้าถึงจิตใจและจิตวิญญาณของศิลปิน โดยรวมแล้วทั้งหมดล้วนเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องของศิลปินสาขาทัศนศิลป์ชาวเวียดนามอย่างเช่นลอง ลู เบียน