ทุกเย็นวิโรจน์ ยานะวิมุติ จะชวนป้าชะอุ้ม ภรรยาคู่ใจไปนาสร้างสุขเป็นกิจวัตร แม้จะเป็นช่วงเวลาหลังฤดูเก็บเกี่ยวที่ไร้รวงข้าวชูช่อไสว แต่ผืนนาแห่งนี้ยังคงเขียวชอุ่มร่มรื่น ดูสบายตา สบายใจ มีพริก มะเขือ มะเขือเทศที่ปลูกไว้ตั้งแต่ 5 ธันวา 2562 ยังคงให้ผลผลิตเก็บกิน เก็บขาย ได้อย่างต่อเนื่องย่างเข้าแปดเดือนแล้ว … ผักแนวดิ่ง เช่น บวบ ฟักเขียว มะระ ที่มีบุญโชติ วรรณะ และเยาวนิตย์เป็นผู้ดูแลก็งามไม่แพ้กัน ส่วนปลาดุกที่สมคิด ทองศรี ภิญโญ สุดแสวง และธนากร มากมณี เลี้ยงดูก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือ สมบูรณ์ ตัวใหญ่ สีสวย ไร้กลิ่นสาบคาวต่างจากปลาที่เลี้ยงในบ่อทั่วไป ถูกนำออกขายและแปรรูปเป็นปลาดุกแดดเดียวหมดในเวลาอันรวดเร็ว คนที่ได้ลิ้มรสพากันกล่าวชมว่าไม่คาวเหมือนปลาที่เคยซื้อกิน ทั้งหมดนี้เป็นผลผลิตจากผืนนาข้าวสังข์หยดอินทรีย์ที่ถูกปรับให้เป็นนาผสมผสาน ซึ่งมีผลให้ผืนนาอุดมสมบูรณ์ขึ้น เห็นได้จากผลผลิตมีรวงใหญ่ แน่นและสม่ำเสมอแตกต่างจากนาทั่วไปอย่างชัดเจน
นาผสมผสานแห่งนี้เป็นโมเดลใหม่จากแนวคิดที่สถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ (ICOFIS) หน่วยงานที่มีพันธกิจพัฒนาทักษะการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู่ให้กับนิสิต ม.ทักษิณ ได้ศึกษาวิจัย ทดลองพัฒนาขึ้น เพื่อให้เกษตรกรใช้แรงงานและพื้นที่น้อย แต่สร้างรายได้พอเพียงเลี้ยงครอบครัว
“เราทำนาผืนนี้ ให้สร้างสุขได้ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นทั้งแหล่งทำกิน ที่พักผ่อน และห้องรับแขกของชุมชน ผลจากการประเมินระยะทดลอง ผืนนาที่บริหารจัดการภายใต้ระบบผสมผสานนี้มีความอุดมสมบูรณ์มากให้ผลผลิตข้าวสังข์หยด 730 กก.ต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น 85% เมื่อเทียบกับการทำนาแบบเดิมของที่นี่ มีรายได้จากการเลี้ยงปลา 20,000 บาท/100 ตารางวา รายได้จากพืชผักบนคันนา 10,000 บาท/ไร่” ดร.เปลื้อง สุวรรณมณี ผอ. ICOFIS กล่าว
“โมเดลนี้ใช้พื้นที่นาอย่างคุ้มค่าและได้ประโยชน์ทุกส่วน คนมีความสุข พื้นดินได้ปุ๋ย ท้องนาอุดมสมบูรณ์ บนอากาศไม่มีมลพิษ สิ่งเหล่านี้มาจากปัญญา และหากพี่น้องประชาชน นักเรียน นักศึกษาได้มาเรียนรู้ ก็จะเกิดปัญญาต่อยอดยิ่งขึ้นไปอีก” รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ดวงจันทร์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ เชิญชวนผู้สนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำนาผสมผสาน จากโมเดล “นาสร้างสุข” หมู่ที่ 5 บ้านกล้วยเภา ต.ดอนประดู่ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง